
ก.ล.ต. เอาไงต่อ! “ไฮโซม่านฟ้า” ยอมรับผิดขายหุ้นกู้โดยไม่ได้รับอนุญาต
ก.ล.ต. เอาไงต่อ! “ไฮโซม่านฟ้า” ยอมรับผิดขายหุ้นกู้โดยไม่ได้รับอนุญาต
ก.ล.ต. เอาไงต่อ! “ไฮโซม่านฟ้า” ยอมรับผิดขายหุ้นกู้โดยไม่ได้รับอนุญาต หลังชักชวนประชาชนให้ลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษบริษัท ม่านฟ้า กรุ๊ป และบริษัท เลเดอเรอร์ รวมทั้งกรรมการผู้มีอำนาจของทั้งสองบริษัท คือ นางสาว อรปภัตร จันทรสาขา หรือ “ไฮโซม่านฟ้า” และนางสาวกันยกร ศุภการค้าเจริญ หรือ “เก๋” ได้เสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ต่อประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยได้รับแจ้งเบาะแสว่า มีบุคคลที่ชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
อย่างไรตามเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า บริษัท ม่านฟ้า กรุ๊ป จำกัด โดยนางสาวอรปภัตร จันทรสาขา กรรมการ ผู้มีอำนาจ ได้ชักชวนประชาชนให้ร่วมหุ้นผ่านโซเชียลมีเดียโดยกำหนดวงเงินขั้นต่ำสำหรับการเข้าร่วมหุ้นที่ 100,000 บาท และอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปีในระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งการดำเนินการของบริษัท ม่านฟ้า กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท เลเดอเรอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด นั้น เข้าข่ายเป็นการขายหุ้นกู้ต่อประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
ทั้งนี้ทาง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดข้างต้น 4 ราย ได้แก่
1. บริษัท ม่านฟ้า กรุ๊ป จำกัด
2. นางสาวอรปภัตร จันทรสาขา ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ม่านฟ้า กรุ๊ป จำกัด
3. บริษัท เลเดอเรอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด
4. นางสาวกันยกร ศุภการค้าเจริญ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท เลเดอเรอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด
ทั้งนี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) จึงได้ออกหมายเรียกนางสาวอรปภัตร จันทรสาขาและนางสาวกันยกร ศุภการค้าเจริญ ให้มารับทราบข้อกล่าวหา
โดย ล่าสุด วานนี้ (19 ม.ค.) นางสาวอรปภัตร จันทรสาขา ได้เดินทางมาตามหมายเรียก โดยได้รับสารภาพและพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา
ด้าน พ.ต.อ. ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ ผู้กำกับการ 5 บก.ปอศ. เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพในชั้นพนักงานสอบสวนและขั้นตอนต่อไป ทาง บก.ปอศ. จะส่งเรื่องให้ ก.ล.ต. พิจารณาเปรียบเทียบปรับ ตามมาตรา 33 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แต่หากคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาไม่เปรียบเทียบปรับ ก็จะส่งเรื่องกลับมายัง บก.ปอศ. ซึ่งจะต้องส่งสำนวนให้อัยการส่งฟ้องศาลต่อไป