“กิมเอ็ง”เฉ่ง”บุญพร”ทิ้งสมุนปล้นหักค่ายเดิม คำฟ้องชี้ชัดฉกข้อมูลอื้อ!

"กิมเอ็ง" เฉ่ง "บุญพร" ข้อหาละเมิดใช้ข้อมูลบริษัท-ลูกค้าเพื่อดึงพนักงาน หลังย้ายค่ายไป YUANTA ส่งผลลูกค้าย้ายบัญชีซื้อขายแล้วเกือบ 300 คน มูลค่าพอร์ตรวม 3 พันล้าน ฟาก "นายกสมาคมบล." ชี้ดึงคน-ย้ายงานเป็นเรื่องปกติ แต่หากย้ายจำนวนมากก็ไม่ปกติ


สืบเนื่องจากกรณี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MBKET โดยมีนายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้อง นางบุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์ เป็นจำเลยที่ 1 และนายภูริภัทร เขียวบริบูรณ์ เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งในข้อหาละเมิด และมีการเรียกค่าเสียหายจำนวน 578.15 ล้านบาท จากการลักลอบนำข้อมูลไปใช้เป็นประโยชน์แก่บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด หรือ YUANTA

อีกทั้ง มีการฟ้องร้องจำเลยอีก 3 ราย ต่อศาลแรงงานกลาง ฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงาน ประกอบด้วย นางสาวสิทธิพร แสงพุ่ง เป็นจำเลยที่ 1 นายภูษิต แก้วมงคลศรี เป็นจำเลยที่ 2 และนายอติ อติกุล เป็นจำเลยที่ 3 โดยทั้งหมดเป็นอดีตพนักงานบริหารระดับสูงของ MBKET

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2560 นางสาวสิทธิพรได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนการขายของผู้แนะนำการลงทุน (เจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้ง) ของ MBKET ให้แก่นางบุญพร และนายภูริภัทร ผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) ที่อยู่ [email protected] และ [email protected] ตามลำดับ

โดยขณะที่เกิดเหตุนั้น นางสาวสิทธิพรยังเป็นพนักงานของ MBKET มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายธุรการหลักทรัพย์ ขณะที่นายภูริภัทร และนางบุญพร ถือเป็นพนักงานของ YUANTA โดยที่รายหลังดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดังนั้นจึงถือว่าบุคคลทั้ง 2 ไม่มีสิทธิที่จะเกี่ยวข้องหรือได้รับข้อมูลของผู้ฟ้องแต่อย่างใด

ต่อมา วันที่ 19 เมษายน 2560 นางสาวสิทธิพรได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายชื่อเจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้ง ผู้จัดการสาขา และหัวหน้าทีมการตลาด รวมถึงข้อมูลผลประกอบการ ผลกำไร/ขาดทุน ปริมาณการซื้อขายของที่ทำการสาขาหรือทีมการตลาดต่างๆ ไปยังที่อยู่อีเมลข้างต้นอีกครั้ง

ขณะในวันที่ 20 เมษายน นางสาวสิทธิพรก็ได้มีการส่งข้อมูลให้กับนางบุญพร และนายภูริภัทร อย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับค่าตอบแทนการขาย (ค่าคอมฯ) ของเจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้ง MBKET ที่ได้รับจากบริษัทฯในช่วงระหว่างปี 2557-2559

อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกัน นางบุญพรได้สอบถามกลับมายังนางสาวสิทธิพรผ่านทางอีเมล หลังจากได้รับข้อมูลทั้งหมดข้างต้น โดยเป็นลักษณะการทวงถามทำนองว่า เมื่อจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้ง (ซื้อตัว) แล้ว YUANTA จะได้รับประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งหมายถึงลูกค้าหรือมูลค่าปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่อยู่ในบัญชีการลงทุนซื้อขายหุ้นภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้งรายนั้นๆ มาเป็นของบริษัทตามที่เคยมีการพูดคุยไว้หรือไม่

นอกจากนี้ ในวันที่ 24 เมษายน 2560 มีการตรวจสอบพบว่า นางสาวสิทธิพรได้ใช้คอมพิวเตอร์ของบริษัทฯ เพื่อเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์และค่าคอมฯของลูกค้าสำคัญจำนวนหนึ่งที่สาขาเซ็น เวิร์ล (Zen World Branch) จากฐานข้อมูลของบริษัทฯโดยไม่ได้รับอนุญาต และมิใช่เพื่อธุรกิจของบริษัทรวมถึงมิใช่เป็นรายงานที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในบริษัทฯได้รับรู้รับทราบแต่อย่างใด

โดยเบื้องต้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการกระทำเพื่อเป็นประโยชน์แก่ YUANTA ได้ ซึ่งทาง MBKET จะมีการนำเสนอรายละเอียดส่วนนี้ต่อศาลในชั้นพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ นางบุญพรเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารสูงสุดในสายธุรกิจหลักทรัพย์รายย่อยของ MBKET ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2546 ถึง 1 มกราคม 2556 จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของบริษัทฯ จนกระทั่งลาออกเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 เพื่อไปรับตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ YUANTA

ส่วน นายภูริภัทรเคยเป็นพนักงานของ MBKET ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2558 จนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 โดยดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ซึ่งหลังจากนั้นได้เข้าเป็นพนักงานของ YUANTA

อนึ่ง นายภูริภัทรเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจหลักทรัพย์และการลงทุนเป็นอย่างดี อีกทั้งมีประสบการณ์กว้างขวางในฐานะผู้บรรยายและผู้เขียนบทความให้กับเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และยังเป็นผู้ได้รับอนุญาตและขึ้นทะเบียนเป็นผู้แนะนำการลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีกด้วย

ขณะที่ นางสาวสิทธิพรขณะเกิดเหตุเป็นพนักงาน MBKET โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายธุรการหลักทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2553 จนถึงวันที่ 26 เมษายน 2560 ซึ่งบริษัทฯได้ทำการเลิกจ้างนางสาวสิทธิพร เนื่องจากได้ทำผิดกฎหมายในการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัทฯโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับการยินยอมนับเป็นการทำผิดสัญญาจ้างและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของบริษัทฯ

ทั้งนี้ มีการระบุในคำฟ้องคดีนี้ว่า การกระทำของจำเลยทั้งหมดเป็นผลทำให้ YUANTA สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้งของ MBKET เพื่อชักชวนไปทำงานด้วยเป็นจำนวนมาก โดย ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2560 มีพนักงานจำนวน 205 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้งรวมกับผู้จัดการสาขาจำนวน 159 ราย และเป็นพนักงานแบ็กออฟฟิศจำนวน 46 ราย ได้ลาออกและแจ้งว่าจะไปทำงานภายใต้การบังคับบัญชาของนางบุญพร (ขึ้นทะเบียนเป็นพนักงาน YUANTA แล้ว 88 คน)

ขณะเดียวกัน ผลจากการละเมิดหรือลักลอบเข้าถึงบัญชีซึ่งมีข้อมูลความลับลูกค้า ส่งผลให้ YUANTA ทราบถึงผลประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกค้าได้รับจาก MBKET จนสามารถยื่นข้อเสนอเพื่อสร้างแรงจูงใจในการย้ายบัญชีการลงทุน ซึ่งเบื้องต้นมีรายงานว่า พบลูกค้าย้ายบัญชีฯไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้งกว่า 261 ราย มูลค่ารวมราว 3.04 พันล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (28 มิ.ย.) MBKET ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยยอมรับมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจริง เนื่องจากพบและเชื่อว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายและผิดจรรยาบรรณต่อบริษัทฯ ซึ่งข้อมูลลูกค้า ผู้ถือหุ้น และพนักงาน ถือเป็นทรัพย์อันเป็นกรรมสิทธิ์และทรัพย์สินที่บริษัทฯจำเป็นต้องปกป้อง เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและโปร่งใสเพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมโบรกเกอร์

ด้านนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวถึงกรณีการฟ้องร้องดังกล่าวว่า ทางสมาคมฯหวังให้ทั้ง 2 บริษัทหลักทรัพย์สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นเรื่องของเหตุผลของทั้ง 2 องค์กร ซึ่งบางครั้งสมาคมฯ ไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ แต่ก็พยายามให้ทั้ง 2 ฝ่ายหาทางออก เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต

“ทางผู้บริหารของ บล.เมย์แบงก์ฯ ให้ข่าวว่าการกระทำของผู้บริหาร บล.หยวนต้า ตรวจพบแล้วว่าไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เรื่องนี้ทาง บล.เมย์แบงก์ ต้องไปดำเนินการตามข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งถ้าเป็นไปตามนั้น ก็มีสิทธิที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ในขณะที่อีกฝ่ายก็ต้องยืนยันว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่” นางภัทธีรา กล่าว

ส่วนเรื่องการย้ายงาน ถือเป็นเรื่องปกติ แต่การย้ายจำนวนมากถือว่าไม่ปกติ ซึ่งสมาคมฯ ก็เห็นใจทั้ง 2 ฝ่าย

“เรื่องการดึงตัวพนักงานเป็นเรื่องที่มีมาทุกยุคทุกสมัย แต่ยืนยันว่าตอนนี้มีน้อยลง แต่เคสนี้เกิดจากมีรายใหม่เข้ามา และมีความเชื่อมต่อกันระหว่างผู้บริหารทั้ง 2 องค์กร สมาคมฯก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามปรึกษาหารือ แต่ดูแล้วจะเข้าไปทำอะไรยาก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะห้ามให้เกิดขึ้น ซึ่งในกรณีการซื้อตัวหรือดึงตัวนั้น ไม่เกิดขึ้นกับบริษัทต่างชาติ เพราะส่วนมากเขาจะเทคโอเวอร์กิจการไปเลย” นางภัทธีรา กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button