สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 ก.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 ก.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ (1 ก.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้นทะลุแนว 75 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,633.53 จุด เพิ่มขึ้น 131.02 จุด หรือ +0.38% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,319.94 จุด เพิ่มขึ้น 22.44 จุด หรือ +0.52% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,522.38 จุด เพิ่มขึ้น 18.42 จุด หรือ +0.13%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 ก.ค.) เนื่องจากการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันดิบหนุนหุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นมากกว่า 2% และการเปิดเผยรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนในยุโรปได้ช่วยคลายความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 455.63 จุด เพิ่มขึ้น 2.79 จุด หรือ +0.62%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,553.82 จุด เพิ่มขึ้น 45.99 จุด หรือ +0.71%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,603.81 จุด เพิ่มขึ้น 72.77 จุด หรือ +0.47% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,125.16 จุด เพิ่มขึ้น 87.69 จุด หรือ +1.25%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 ก.ค.) โดยปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 2 เดือน เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานและการรายงานแนวโน้มผลประกอบการเชิงบวกได้ช่วยคลายความวิตกของนักลงทุนเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในสหราชอาณาจักร

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,125.16 จุด เพิ่มขึ้น 87.69 จุด หรือ +1.25%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นทะลุแนว 75 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (1 ก.ค.) ขานรับกระแสคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส อาจจะเพิ่มกำลังผลิตน้อยกว่าที่คาดหมายไว้ก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มโอเปกพลัสได้เลื่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีออกไปเป็นวันศุกร์ที่ 2 ก.ค. เพื่อให้ประเทศสมาชิกมีเวลามากขึ้นในการหารือกันเกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.76 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 75.23 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2561

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.22 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 75.84 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 ก.ค.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาเป็นปัจจัยหนุนให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 5.2 ดอลลาร์ หรือ 0.29% ปิดที่ 1,776.8 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 9.4 เซนต์ หรือ 0.36% ปิดที่ 26.1 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 8 ดอลลาร์ หรือ 0.75% ปิดที่ 1,080.9 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 10.80 ดอลลาร์ หรือ 0.4% ปิดที่ 2,768.90 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ก.ค.) หลังสหรัฐเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันงนี้

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.18% แตะที่ 92.5993 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.61 เยน จากระดับ 111.08 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ Japanese 0.9263 ฟรังก์ จากระดับ 0.9260 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2442 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2404 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1841 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1847 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3755 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3803 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7461 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7494 ดอลลาร์สหรัฐ

 

Back to top button