AMARIN ฝีมือและวาสนา

รายได้และกำไรสุทธิของ AMARIN และบริษัทย่อย ออกมาสวนทางกับบริษัทสื่ออื่น ๆ ที่ต้องเอาตัวรอดท่ามกลางขาลงของสื่อเดิมๆ ที่ไม่รู้สิ้นสุดเมื่อใด


รายได้และกำไรสุทธิของบริษัทผลิตสื่ออย่าง AMARIN หรือบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ครึ่งปีนี้ออกมาสวนทางกับบริษัทสื่ออื่น ๆ ที่ต้องกระเสือกกระสนเอาตัวให้อยู่รอดท่ามกลางขาลงของธุรกิจสื่อเดิม ๆ ที่ไม่รู้สิ้นสุดเมื่อใด

รายได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 รวม 1,392.28 ล้านบาท เพิ่มจากงวดเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.36  รับการแจกแจงว่า เป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้จากการผลิตสื่อทีวีดิจิทัล และการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจ การจัดจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์ของร้านนายอินทร์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยรายได้จากสื่อทีวีดิจิทัลมีอัตราการเพิ่มก้าวกระโดดถึงร้อยละ 74.72 ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ส่งผลให้มีการเติบโตในอัตราร้อยละ 42.24 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564

ทางด้านต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายกลับสวนทางรายได้ เพราะลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 5.03 เพราะผู้บริหาร เลือกการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กำไรสุทธิอันโดดเด่นในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 สูงถึง 163.37 ล้านบาท  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีผลขาดทุน 85.01 ล้านบาท หรือมีผลกำไรเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 292.18

กำไรสุทธิช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 นี้ ใกล้เคียงกับผลการดำเนินงานตลอดทั้งปี 2563 ทำให้คาดหมายว่าสิ้นปีนี้ AMARIN น่าจะจ่ายปันผลมากกว่าปีก่อนที่จ่ายไปหุ้นละ  0.12 บาทต่อหุ้น

ผลพวงของกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นนี้ คนที่รับไปเต็ม ๆ คือ กลุ่มสิริวัฒนภักดี ในนามบริษัท วัฒนภักดี จำกัด ที่มีรายชื่อถือครองหุ้นอยู่ล่าสุดมากถึงกว่าร้อยละ 60

ในขณะที่ผู้บริหารและกรรมการรุ่นก่อตั้งและทายาทตระกูลอุทกะพันธุ์ ถือครองหุ้นเป็นทางการแต่ต่ำกว่าร้อยละ 15

ข้อเท็จจริงที่ผู้ก่อตั้งและมีอำนาจเต็มในการบริหารงาน ต้องกลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย เช่นนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ฐานะการเงินเมื่อปี 2559 ของ AMARIN ทรุดโทรมลง เนื่องจากขาดทุนต่อเนื่องจากการทำธุรกิจทีวีที่มีต้นทุนใบอนุญาตสูงเกินไป

AMARIN ขาดทุนช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านั้นต่อเนื่อง และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 ขาดทุนถึง 468.93 ล้านบาท จึงส่งผลต่อสภาพคล่องและกระแสเงินสด เพื่อใช้จ่ายค่าใบอนุญาตดิจิทัลทีวี ค่าเช่าโครงข่ายทีวี และชำระเงินกู้คืนไปยังสถาบันการเงิน บริษัทจึงต้องหาเงินทุนเพิ่มด้วยการขอมติผู้ถือหุ้นเดิม เพิ่มทุนและขายหุ้นส่วนนี้ให้กับตระกูลสิริวัฒนภักดี ในราคา 850 ล้านบาท

การเพิ่มทุนครั้งนี้ อมรินทร์จะเพิ่มทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มจำนวนหุ้น 200 ล้านหุ้น มูลค่าราคาหุ้นละ 1 บาท แล้วขายให้กับ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท (รวมมูลค่า 850 ล้านบาท) โดยบริษัท ส่งนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี ร่วม เป็นกรรมการ

หลังการเข้าซื้อหุ้นครั้งนั้น (ราคาซื้อต่ำกว่าราคาบนกระดานเกือบ 43%) บริษัท วัฒนภักดี จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของอมรินทร์ ด้วยสัดส่วนหุ้น 47.62% ส่วนครอบครัวอุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอมรินทร์ จะมีสัดส่วนหุ้นลดลงเหลือ 30.83%

ต่อมากลุ่มเสี่ยเจริญได้ทยอยเงียบ ๆ เข้าถือหุ้นเป็นกว่า 60% โดยซื้อจากกลุ่มอุทกะพันธุ์

การฟื้นตัวด้วยฝีมือของกลุ่มอุทกะพันธุ์ ที่ทำให้กลุ่มเสี่ยเจริญรับไปเต็มที่ จึงตอกย้ำคำพูดโบราณ ที่ว่า “แข่งเรือแข่งพายได้ แต่อย่าแข่งวาสนาเลย”

Back to top button