17 หุ้นรับอานิสงส์ ‘ส่งออก-บาทอ่อนค่า’

เมื่อการส่งออกขยายตัวขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ ทำให้หุ้นบางกลุ่มได้รับประโยชน์สามารถผลักดันให้ผลประกอบการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง


เส้นทางนักลงทุน

กระทรวงพาณิชย์ รายงานผลประชุมร่วมกับภาคเอกชน (กรอ. พาณิชย์) เกี่ยวกับประมาณการการส่งออกของไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 3%-4% มูลค่า 280,000 ล้านดอลลาร์  หรือกว่า 9 ล้านล้านบาท โดยได้พิจารณาจาก เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญย้อนหลังไป 5 ปี  อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันดิบดูไบ  ราคาสินค้าเกษตร  ราคาวัตถุดิบโลก  สถานการณ์โควิด ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านการขนส่งโลจิสติกส์  เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือ รวมทั้งการประเมินโดยทูตพาณิชย์ทั่วโลก

สำหรับสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวในปี 2565 ประกอบด้วย 1. สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ผลไม้ น้ำตาล อาหารเลี้ยงสัตว์  2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับทำงานที่บ้าน (Work From Home) เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารสัตว์เลี้ยง 3. สินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ 4. วัตถุดิบที่ใช้เพื่อการผลิตสินค้า เช่น เหล็ก เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางรถยนต์ที่จะนำไปใช้ในการผลิตรถยนต์

สิ่งสำคัญ ปัจจัยที่สนับสนุนให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ 3-4 % ได้แก่

(1) การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (OECD) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวบวก 4.5%

(2) การนำเข้าของประเทศคู่ค้า ในปีหน้าคาดว่ายังขยายตัวดี ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น หรือสหภาพยุโรป ซึ่งก็จะช่วยเสริมในการส่งออก นำเข้ามาก โอกาสเราส่งออกไปก็จะมากขึ้นด้วย

(3) ปัจจัยค่าเงินบาท ซึ่งคาดว่าปีหน้าก็ยังจะเอื้อต่อการส่งออก อยู่ที่ประมาณ 32 ถึง 33 บาทต่อดอลลาร์

(4) การผลิตตู้คอนเทนเนอร์ป้อนตลาดโลกที่มากขึ้น

(5) การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล (e-Digital) จะช่วยเรื่องการส่งออกสินค้าด้าน IT ของไทย

(6) แผนจัดการแก้ปัญหาโควิดที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในภาพรวมของโลก

(7) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) 15 ประเทศ ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป

ส่วนของการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนของไทยสำหรับปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว  5-7% หรือ 1.07-1.08 ล้านล้านบาท โดยมีมูลค่าการค้า ทั้งนำเข้า ส่งออกทางชายแดนและข้ามแดนประมาณ 1.78–1.82 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้คงต้องจับตาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน การขาดแคลนแรงาน การขาดแคลนวัตถุดิบ เซมิคอนดักเตอร์ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุขของประเทศคู่ค้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากประเด็นการส่งออกในปี 2565 คาดจะมีการขยายตัวขึ้นได้ดี ทาง บล.เอเชีย เวลท์ ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มส่งออก รวมไปถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นหลัก ได้แก่ บริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APURE,  บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC, บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD, บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE, บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III

บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) หรือ NYT,  บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU, บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA, บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE, บริษัท เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PACO

บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH, บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT, บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MEGA, บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER, บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) หรือ SMPC และ บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG  เป็นต้น

สำหรับหุ้นดังกล่าว บล.เอเชีย เวลท์ เลือก SONIC, AH และ PACO เป็นหุ้นเด่น

เบื้องต้นหากดูข้อมูลจากบทวิเคราะห์ก่อนหน้า พบว่า ในส่วนของ  บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC มีการประเมินว่าผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2564 จะยังโตต่อเนื่องและทำจุดสูงสุดใหม่ของปี 2564 หลัง แนวโน้มกำไรส่งออกและนำเข้ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขการส่งออกเดือน ก.ย. 2564 ที่ขยายตัว 17.1% ประกอบกับการที่รัฐบาลไทยได้มีแผนการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 2564 รวมทั้งหลายประเทศเริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างโดดเด่น

นอกจากนี้ค่าระวางเรือที่ยังอยู่ในระดับที่สูง แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะอ่อนตัวลงบ้าง (Shanghai Containerized Freight Index) ที่ยังอยู่ในระดับสูง โดย ณ วันที่ 5 พ.ย. 2564 อยู่ที่ระดับ 4,535.92 จุด ลดลง 0.7% จากเดือนก่อนหน้า แต่ยังนับว่าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และช่วงครึ่งแรกของปี 2564  แต่ประเมินว่าจะยังรักษาระดับดังกล่าวได้ไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ทำให้คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2564 จะยังโตต่อเนื่อง และจะเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องไปยังปี 2565

เช่นเดียวกับ บริษัท เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PACO ยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อผลประกอบการของบริษัทในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 หนุนจากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยตลาดในประเทศมีปัจจัยบวกมาจากการใช้จ่ายในการซ่อมแซม และซื้ออะไหล่รถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดเมือง สำหรับตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันได้มีคำสั่งซื้อสินค้า (Backlog) ถึงเดือน ก.พ. 2565 แล้ว อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกจากราคาอะลูมิเนียมที่เป็น Raw Material ของบริษัทที่เริ่มมีการปรับตัวลดลงสู่ระดับปกติ รวมถึงต้นทุนการผลิตในส่วนของค่าไฟฟ้าสำหรับการผลิตที่ลดลงจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์

นอกจากนี้มองว่าแนวโน้มทิศทางของบริษัทยังมีความน่าสนใจ และสามารถเติบโตได้จากธุรกิจใหม่ ในด้าน OEM โดยบริษัทได้มีการลงนามสัญญารับจ้างผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศให้กับค่ายรถยนต์แห่งหนึ่งที่มีมูลค่าสัญญากว่า

800–1,200 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการลงนามสัญญา OEM ที่มีมูลค่ามากที่สุดสำหรับ OEM ของบริษัท โดยสัญญาจะมีระยะเวลาทั้งหมด 4 ปี และบริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในช่วงปี 2565

ดังนั้นเมื่อการส่งออกมีการขยายตัวขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ ก็จะทำให้หุ้นข้างต้นได้รับประโยชน์สามารถผลักดันให้ผลประกอบการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง!!!

Back to top button