EGCO แจงโรงไฟฟ้า “น้ำเทิน 1” สปป.ลาว 644.30 MW “แข็งแรง-ปลอดภัย” จ่อซีโอดี ส.ค.นี้

EGCO ยันโรงไฟฟ้า “น้ำเทิน 1” สปป.ลาว กำลังผลิต 644.30 เมกะวัตต์ โครงสร้างหลักมีความแข็งแรง-ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล สำหรับการรั่วซึมของน้ำเป็นเรื่องปกติเมื่อเขื่อนเริ่มมีการกักเก็บน้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องเพื่อเตรียมขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ภายในเดือนสิงหาคม 65


บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ในฐานะผู้ถือหุ้น 25% ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ “น้ำเทิน 1” สปป.ลาว ขอชี้แจงว่ากรณีกระแสข่าวการรั่วซึม เนื่องจากกระบวนการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตบดอัด(Roller Compacted Concrete Dam) อาจทำให้มีน้ำแทรกตัวผ่านช่องเล็กๆ ของชั้นดินและชั้นหินด้านข้างตัวเขื่อนในบางจุดนั้น เป็นกรณีปกติที่สามารถพบได้ในช่วงที่เขื่อนเริ่มมีการกักเก็บน้ำ  ซึ่งไม่มีผลต่อโครงสร้างหลักและความแข็งแรงปลอดภัยของเขื่อน ตามที่มีกระแสข่าวในสื่อโซเชียลมีเดียแต่อย่างใด

ดยโรงไฟฟ้า “น้ำเทิน 1” ได้ประสานกับหน่วยงานภาครัฐของ สปป.ลาว เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและให้ข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว

เอ็กโก กรุ๊ป ขอยืนยันว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ “น้ำเทิน 1” กำลังผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ 644.30 เมกะวัตต์ ได้รับการออกแบบและก่อสร้างอย่งถูกต้องตามหลักวิศวกรรม โครงสร้างเขื่อนมีความแข็งแรงและปลอดภัยตามาตรฐานสากล

รวมทั้งมีการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องเพื่อเตรียมความพร้อมในการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date – COD)ภายในเดือนสิงหาคม 2565

อนึ่งจากกรณี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์ของ สปป.ลาว ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนท้ายน้ำเขื่อนน้ำเทิน 1 สปป.ลาว เมืองปากกะดิ่ง แขวงบอลิคำไซ จากกรณีพบการรั่วซึมจากขั้นตอนการก่อสร้าง

เบื้องต้น สทนช.ได้มีการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พบว่า การรั่วซึมของเขื่อนตามที่มีการนำเสนอข่าว เกิดจากกระบวนการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตบดอัด อาจมีน้ำไหลผ่านช่องเล็ก ๆ ของชั้นดินและชั้นหินด้านข้างตัวเขื่อน และไม่อยู่ในบริเวณที่เป็นโครงสร้างของเขื่อน ซึ่งเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ จึงไม่มีผลต่อความมั่นคงของเขื่อนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท สทนช.ได้มีการติดตามประเมินสถานการณ์น้ำโขงบริเวณที่ใกล้กับการระบายน้ำจากเขื่อนน้ำเทิน 1 ซึ่งคือบริเวณสถานีนครพนม จ.นครพนม ยังมีระดับน้ำปกติและมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.77 เมตร การไหลของน้ำก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.40 ม.

ขณะเดียวกัน สทนช.ยังได้มีการประเมินผลกรณีเขื่อนน้ำเทิน 1 มีการระบายน้ำ ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำของแม่น้ำโขงบริเวณ จ.บึงกาฬ หนองคาย และนครพนม เนื่องจากสถานการณ์แม่น้ำโขงปัจจุบันบริเวณสถานีหนองคายและนครพนมยังมีระดับน้ำปกติและมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งค่อนข้างมาก

ขณะที่น้ำโขงสามารถรองรับการไหลของน้ำได้ถึง 27,000 ลบ.ม./วินาที แต่เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกและข้อกังวลของประชาชนริมน้ำโขง สทนช.จะแจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำโขงไปยังจังหวัดริมน้ำโขงรับทราบโดยเร็วต่อไปด้วยเช่นกัน

 

สำหรับเขื่อนน้ำเทิน 1 ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัด ความสูงเขื่อนประมาณ 197 เมตร ความจุเก็บกัก 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร กั้นแม่น้ำกะดิ่ง ห่างแม่น้ำโขงประมาณ 33 กิโลเมตร ซึ่งลักษณะการไหลเมื่อมีการระบายน้ำจากเขื่อนน้ำเทิน 1 จะไหลลงแม่น้ำกระดิ่งของ สปป.ลาว จากนั้นจะไหลลงแม่น้ำโขงบริเวณตรงข้ามกับจังหวัดบึงกาฬ ขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บกักน้ำปีแรก และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้ประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2565

Back to top button