
KEX สิ้นสุดตลาดทุน.!
หลายคนคงยังจำกันได้ว่า ตอนที่หุ้นขนส่งพัสดุค่ายสีส้ม บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ซึ่งปัจจุบันกลายร่างมาเป็นบริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX
หลายคนคงยังจำกันได้ว่า ตอนที่หุ้นขนส่งพัสดุค่ายสีส้ม บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ซึ่งปัจจุบันกลายร่างมาเป็นบริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงปลายปี 2563 เป็นที่ฮือฮาปาจิงโกะมาก…
เนื่องจากเป็นหุ้นไอพีโอที่อยู่ในกระแส เป็นธุรกิจให้บริการขนส่งพัสดุทั่วประเทศ…จะใกล้หรือไกล แม้กระทั่งบนดอย รถส้มของ KEX ก็ไปส่งได้…เลยได้รับความนิยมล้นหลาม ยอดจองซื้อทะลัก โดยเข้าเทรดวันแรก (24 ธ.ค. 2563) สร้างสถิติมูลค่าซื้อขายสูงสุดที่ 2.53 หมื่นล้านบาท
KEX เลยเป็นหุ้นที่ถูกตั้งความหวังไว้สูงลิบลิ่ว…ในฐานะเป็นผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนรายใหญ่ ที่เป็นรองก็แค่ไปรษณีย์ไทย..!? แถมจะโตรับเทรนด์การค้าขายออนไลน์ หรือธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยที่กำลังโตระเบิดระเบ้อในขณะนั้น
แต่ปรากฏว่าเข้ามาปุ๊บทุกอย่างกลับตาลปัตร ราคาหุ้นที่เคยเหนือจอง (ไอพีโอที่ 28 บาท) ก็ค่อย ๆ สาละวันเตี้ยลง และต่ำจองแบบหาทางกลับบ้านไม่เจออีกเลย…
สารตั้งต้นก็มาจากผลประกอบการที่ไม่มาตามนัด มิหนำซ้ำยังถดถอยลงเรื่อย ๆ จากปี 2563 มีรายได้รวม 19,010.05 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,405.03 ล้านบาท ถัดมาปี 2564 รายได้รวมย่อเหลือ 18,972.08 ล้านบาท กำไรสุทธิลดฮวบเหลือแค่ 46.92 ล้านบาท
จากนั้นตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา KEX ก็ไม่เคยได้ลิ้มลองกับกำไรอีกเลย โดยในปี 2565 มีรายได้รวม 17,145.04 ล้านบาท พลิกมาขาดทุน 2,829.84 ล้านบาท ส่วนปี 2566 รายได้รวมลดลงเหลือ 11,541.48 ล้านบาท แต่ขาดทุนเพิ่มขึ้น 3,880.64 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 รายได้รวมลดเหลือ 9,616 ล้านบาท ขาดทุนบักโกรกกว่า 5,911.32 ล้านบาท
ด้วยสมรภูมิตลาดขนส่งพัสดุที่แข่งขันกันดุดือด เป็นตลาดที่เต็มไปด้วยคู่แข่งทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ เกิดการห้ำหั่นด้านราคา เพื่อหวังแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด ในขณะที่ KEX ต้องการรักษาฐานลูกค้าไว้ ก็หันมาเล่นสงครามราคากับเค้าด้วย โดยยอมอดเปรี้ยวไว้กินหวาน…ยอมเจ็บวันนี้เพื่อหวังจะยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้า ในวันที่รายเล็ก ๆ อดรนทนไม่ไหว…ล้มหายตายจากไปจากตลาด
แต่ความเป็นจริงมักไม่เป็นไปตามที่หวัง…เพราะรอแล้วรอเล่าก็ยังไม่หวานสักกะที ยังเปรี้ยวต่อ แถมเปรี้ยวเยี่ยวราดอีกต่างหาก ขนาดที่ผู้ถือหุ้นใหญ่บางรายยังถอดใจยกธงขาว อย่างกรณีของกลุ่มบีทีเอสที่ยอมตัดขายหุ้น KEX แบบขาดทุนยับเยิน (ต้นทุนซื้อที่ 65 บาท แต่ขายที่ราคา 5.50 บาท)
ตามมาด้วยการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่…จากเดิม Kerry Logistics Network Limited (KLN Group) ในกลุ่ม KRL ซึ่งถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (KLNTH) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เปลี่ยนมาเป็น S.F. Holdings Co., Ltd. (SF) ซึ่งถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (SFTH) แทน โดยปัจจุบันถือหุ้นในสัดส่วน 81.43%
สุดท้าย KEX ก็มาถึงจุดจบสิ้นในตลาดทุน เตรียมจะเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้รู้แล้วรู้รอด จากการที่ SFTH ประกาศตั้งโต๊ะเทนเดอร์ฯ หุ้น KEX ส่วนที่เหลือจากผู้ถือหุ้นรายอื่นจำนวน 651.02 ล้านหุ้น คิดเป็น 18.75% ที่ราคาหุ้นละ 1.50 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่ากระดานในวันที่ 30 เม.ย. 2568 โดยปิดตลาดที่ 1.23 บาท
ส่งผลให้พอประกาศทำเทนเดอร์ฯ ปุ๊บ…ราคาพุ่งพรวดปั๊บ..!! โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 2 พ.ค. 2568 ราคาวิ่งขึ้นไปแตะที่ระดับสูงสุด 1.55 บาท ก่อนจะย่อตัวลงมาปิดตลาดที่ 1.47 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 19.51% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 110.05 ล้านบาท
เอาเป็นว่า คนที่หวังเข้ามาเก็งกำไร ก็ต้องดูตาม้าตาเรือด้วยนะ เพราะราคาคงไปได้ไม่ไกลเกิน 1.50 บาทหรอก…
ส่วนใครที่ก่อนหน้านี้ยังหลับหูหลับตาอยู่บนดอย…โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะหลุดดอย มาวันนี้คงถึงเวลาต้องลงจากดอย KEX แล้วล่ะ…
แม้ต้องเจ็บตัวหนัก…แต่คงไม่ถึงตายหรอก
…อิ อิ อิ…