MPJ สู้ศึก “เทรดวอร์” ลุยขยายลงทุนตะวันออกกลาง ชี้ “ไทย” มีศักยภาพขึ้นแท่น HUB

MPJ เปิดเกมสู้ศึก “เทรดวอร์" ต่อยอดโลจิสติกส์ เตรียมขยายการขนส่งการค้าในกลุ่มอาเซียนและตะวันออกกลาง ยืนยันประเทศไทยมีศักยภาพและเป็นจุดยุทธศาสตร์ สามารถขึ้นแท่นเป็น HUB การค้าระหว่างประเทศได้


นายจีระศักดิ์ มานะตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPJ ผู้นำโลจิสติกส์แบบครบวงจรและผู้นำด้านบริหารลานตู้คอนเทนเนอร์ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐฯและจีน (TRADE WAR) ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ในด้านห่วงโซ่อุปทานโลกมีการปรับเปลี่ยนท่ามกลางวิกฤต TRADE WAR ทั้งต้นทุน การขนส่ง และเส้นทางใหม่
ส่งผลให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มที่จะได้รับโอกาสเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งใหม่ จากการนำเทคโนโลยีสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน ซึ่งถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่เข้ามาช่วยรับมือ TRADE WAR และสร้างการเติบโตในอนาคต

โดยปัจจัยกล่าว บริษัทฯ เล็งเห็นโอกาสในการกระจายตลาด และขยายเส้นทางการค้า เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งเพียงตลาดเดียว โดยเบื้องต้นบริษัทฯได้ปรับกลยุทธ์ ด้านบริหารจัดการต้นทุน และขยายเครือข่ายโลจิสติกส์ในภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

เนื่องจากประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพ และสามารถขึ้นมาเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ เพราะเรามีชายแดนที่เป็นจุดเชื่อมต่อการค้าระหว่างประเทศ และท่าเรือน้ำลึก โดยสามารถทำเรื่อง import & export หรือ        ทำ In-transit shipment ได้ ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในภาคส่วน international logistics ได้อย่างชัดเจน รวมถึงยังเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมอีกหลากหลาย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า, ยานยนต์, อาหาร และ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยแผนกลยุทธ์การขยายไปในต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้น มีประเทศสหรัฐฯ เป็นประเทศเป้าหมาย แต่ด้วยสถานการณ์สงครามการค้า ทำให้บริษัทฯ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการปรับกลยุทธ์การขยายช่องทางการขนส่งในประเทศและข้ามแดน โดยเพิ่มสัดส่วนทางการค้าในกลุ่มอาเซียนและตะวันออกกลาง เพื่อบริหารความเสี่ยงเชิงรุกควบคู่ไปด้วย

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลอ้างอิง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ประเมินว่าธุรกิจโลจิสติกส์มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้น จากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มาพร้อมกับการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น และประเมินว่าในปี 2568 รายได้ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์จะเติบโตอยู่ที่ 3.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าอยู่ที่ 9 แสนล้านบาท

รวมทั้งยังมี 2 เทรนด์ธุรกิจโลจิสติกส์ที่กำลังเติบโตในปีนี้ ได้แก่ เทรนด์ Green logistics ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในไทยได้เริ่มให้บริการ Green logistics มากขึ้น และเทรนด์ Logistics technology (Log Tech) ที่เข้ามาช่วยยกระดับการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น พร้อมทั้งลดต้นทุนบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

Back to top button