
พาราสาวะถี
ร้อนฉ่าขึ้นมาทันที หลังจากที่คณะกรรมการแพทยสภา มีมติลงโทษแพทย์ 3 คน ซึ่งรายแรกน่าจะเป็นหมอของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อีกสองรายเป็นหมอโรงพยาบาลตำรวจ
ร้อนฉ่าขึ้นมาทันที หลังจากที่คณะกรรมการแพทยสภา มีมติลงโทษแพทย์ 3 คน ซึ่งรายแรกน่าจะเป็นหมอของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อีกสองรายเป็นหมอโรงพยาบาลตำรวจ กรณีการส่งตัวและรับช่วงต่อรักษาทักษิณ ชินวัตร ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการพิจารณาคดีจริยธรรมของแพทย์ที่เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ในกรณีที่มีการกล่าวโทษแพทย์ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม
ผู้ที่แถลงเรื่องนี้หลังเสร็จสิ้นการประชุมก็คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมด้วย ระบุว่า คณะกรรมการแพทยสภา มีมติลงโทษแพทย์ 3 คน โดยคนที่ 1 เป็นกรณีว่ากล่าวตักเตือน ในกรณีประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ได้มาตรฐาน และอีก 2 คนพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ในกรณีให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง
สิ่งที่นักข่าวถามและตรงกับความสนใจใคร่รู้ของประชาชนก็คือ กรณีเช่นนี้เป็นการยืนยันว่าป่วยไม่จริงใช่หรือไม่ โดยที่หมอประสิทธิ์ก็ยืนยันว่า ด้วยข้อมูลหลักฐานทั้งหลายที่ได้รับ ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่ามีภาวะวิกฤตตามที่มีการแถลงข่าว เป็นเรื่องการให้ข้อมูลและเอกสารทางการแพทย์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งขณะนี้ข้อมูลที่แพทยสภาได้รับ ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่ามีภาวะวิกฤตเกิดขึ้น ทั้งหมดจึงเป็นมูลเหตุแห่งการพักใบอนุญาต โดยการพักใบอนุญาตประกอบเวชกรรม ถือเป็นการลงโทษรุนแรงกับแพทย์ทุกคน
ในส่วนของมติที่ประชุมแพทยสภานั้น ต้องเสนอมติต่อสภานายกพิเศษคือ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอความเห็นชอบก่อนจะดำเนินการตามมติ ซึ่งเป็นขั้นตอนตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม 2525 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีสาธารณสุขก็ไม่เคยมีความเห็นแย้ง แต่กรณีมีความเห็นที่แตกต่าง เรื่องก็จะถูกตีกลับมาให้ทางแพทยสภาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งแนวโน้มน่าจะเป็นเช่นนั้น อันจะทำให้ถูกมองว่าเป็นเรื่องของการยื้อเวลา
จากการแถลงข่าวหมอประสิทธิ์ก็บอกด้วยว่า จากมติให้พักใบอนุญาตแต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะพักใช้ใบอนุญาตนานเท่าไหร่นั้น เพราะจะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก่อน หากวันนี้ให้ข้อมูลไปอาจไม่ตรงกับรัฐมนตรี หากเห็นชอบก็เป็นไปตามนั้น แต่ถ้าไม่เห็นชอบก็ต้องตีกลับมาที่แพทยสภาอีกครั้งจนได้ข้อสรุป ถึงตอนนั้นจะต้องมีการแถลงข่าวให้ทราบว่า จะมีการพักใช้ใบอนุญาตนานขนาดไหน
นอกจากนี้ ยังมีการชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า เอกสารที่มีการรายงานอาการป่วยไม่สอดคล้องกับอาการป่วยทั้งหมดนั้น เป็นไปได้ว่าเอกสารที่ได้รับมาอาจจะได้รับมาไม่หมด แต่ข้อมูลเป็นแบบนั้น พร้อมย้ำว่าการทำหน้าที่ของแพทยสภายึดความถูกต้องและหลักฐานต่าง ๆ และไม่ได้อิงกับปัจจัยภายนอก และไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าบุคคลคนนี้คือใคร เมื่อได้ข้อมูลมาแบบนี้ผลสรุปจึงออกมาอย่างที่มีการแถลง แต่ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด คำสั่งยังไม่ออกจนกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะเห็นชอบ
ตอนนี้ก็ต้องดูว่าสมศักดิ์จะจัดการกับเผือกร้อนที่ส่งมาถึงมืออย่างไร ส่วนผลที่จะตามมาจากประเด็นดังว่าคงต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ ผลที่มีต่อตัวทักษิณโดยตรง กับผลกระทบต่อรัฐบาล โดย สรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า แพทองธาร ชินวัตร เข้ามารับตําแหน่งหลังจากที่ทักษิณออกจากโรงพยาบาลตำรวจเรียบร้อยแล้ว จึงไม่อยากเอาเรื่องดังกล่าวมาเกี่ยวข้องกับพรรค ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเมืองด้วยซ้ำ ขอให้ไปดูว่าคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร เป็นความผิดของใคร หนักถึงขั้นไหน ยํ้าว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากการเมือง
ขณะที่ผลกระทบต่อทักษิณโดยตรง คงอยู่ที่การนัดไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ เพราะจะเกี่ยวข้องกับการบังคับโทษจำคุกว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ทำให้ฝ่ายกองแช่ง พวกขาประจำ นำไปขยายผลคงเป็นเรื่องที่พ่อนายกฯ ไปยื่นเรื่องขออนุญาตศาลเดินทางไปต่างประเทศ ปลายทางอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แน่นอนว่า เหตุผลคือเพื่อเจรจาเรื่องการขึ้นภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นการช่วยเหลือประเทศอีกทาง ภายใต้สถานการณ์แบบนี้หนีไม่พ้นถูกโจมตี เป็นการเตรียมการหนีแน่นอน
ทั้งนี้ เรื่องที่ศาลนัดไต่สวนนั้น ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์มองว่า ไม่เคยได้ยินกรณีแบบนี้มาก่อน พึ่งจะเคยได้ยินกรณีทักษิณที่ศาลไต่สวนเอง ซึ่งอาจเป็นเพราะศาลเห็นว่า คดีที่ทักษิณถูกพิพากษาจำคุก 8 ปี มาจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง และศาลอาจมีข้อคลางแคลงใจว่าตลอด 6 เดือน ที่ทักษิณพักรักษาตัวอยู่ชั้น 14 มีอาการป่วยหนักขนาดที่ว่าส่งกลับไปเรือนจำไม่ได้ตลอดจริงหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากที่มีผู้ร้องเห็นว่ามีประเด็น จึงขอไต่สวนเอง
สำหรับผลแห่งคดี ก็ต้องแยกเป็นกรณีป่วยจริงจนไม่สามารถส่งกลับกรมราชทัณฑ์ได้ มีเอกสารชี้แจงครบก็เป็นผลดีต่อตัวทักษิณ เพราะสิ่งที่สังคมสงสัยจะจบเนื่องจากศาลไต่สวนแล้ว โดยกรมราชทัณฑ์ไม่ได้ฝ่าฝืนหมายจำคุกของศาล ทักษิณจะใสสะอาด ขณะเดียวกัน หากไม่มีหลักฐานมาแสดง หรือข้อโต้แย้งไม่มีความน่าเชื่อถือ ผู้ที่จะตกที่นั่งลำบากจะเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ การอ้างสิทธิผู้ป่วยก็จะไม่มีน้ำหนัก เพราะศาลจะต้องขอดูเอกสาร หลักฐานทั้งหมด
แต่สุดท้ายจริง ๆ ที่ทุกฝ่ายอยากรู้คำตอบคือ ถ้าศาลเห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากลจริง ทักษิณต้องกลับเข้าคุกหรือไม่ ประเด็นนี้คงไม่ใช่แต่ปริญญาที่ไม่กล้าฟันธง คนส่วนใหญ่คงเห็นเหมือนกัน ชี้ชัดฟันธงลำบาก เพราะไม่เคยมีกรณีนี้มาก่อน ถ้าเห็นว่าจำคุกไม่ครบ 6 เดือนศาลฎีกาก็จะมีคำสั่งต่อไป เรื่องนี้ต้องให้ว่ากันไปตามข้อเท็จจริง ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ท้ายสุดก็ต้องไปลุ้นไปวัดกันในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ ด้วยเหตุผลประการเดียวคือ เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
อรชุน