THAI โกยกำไร Q1 เฉียดหมื่นล้าน โตทะลัก 3 เท่าตัว จ่อหลุดฟื้นฟู-รีซูมเทรด SET ก.ค.นี้

THAI โกยกำไรไตรมาส 1/68 ทะลุ 9.8 พันล้านบาท โตทะลัก 300% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.42 พันล้านบาท จากรายได้รวมทะลุ 5.1 หมื่นล้านบาท ลุ้นออกจากการฟื้นฟูกิจการ หลังศาลฯนัดพิจารณา 4 มิ.ย.68 ก่อนยื่นตลาดหลักทรัพย์นำหุ้นกลับเข้าเทรด SET ก.ค.นี้


บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า บริษัทประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 มีกำไรสุทธิ  9,839 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 306.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2,423 ล้านบาท และมี EBITDA หลักหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) จำนวน 12,728 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทมีรายได้รวม(ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 51,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวม 45,955 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.3% มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เท่ากับ 83.3% ใกล้เคียงกับปีก่อน

ทั้งนี้รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องมาจากปริมาณความต้องการการเดินทางของผู้โดยสารที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทฯได้มีการขยายฝูงบินเพิ่มความถี่เที่ยวบิน ส่งผลให้ปริมาณการผลิต (Available Seat Kilometers-ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.1% โดยมีปริมาณขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Seat Kilometers-RPK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.8% จากจำนวนผู้โดยสารรวม 4.33 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.6%

บริษัทฯและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 37,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,084 ล้านบาท (8.8%) จากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและการให้บริการที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะลดลงประมาณ 1.7% จากปีก่อน

อย่างไรก็ดีบริษัทฯยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานไว้ได้ในระดับที่น่าพอใจ โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 13,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,586 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไร (EBIT Margin) 26.5%

ขณะที่บริษัทฯและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,481 ล้านบาท มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่าย 339 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 และขาดทุนจากการวัดมูลค่าจากตราสารอนุพันธ์

อย่างไรก็ตามมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทฯและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 9,839 ล้านบาท และมี EBITDA หลักหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) จำนวน 12,728 ล้านบาท

โดยบริษัทฯมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ทำการบินในไตรมาส 1/2568 รวมทั้งสิ้น 78 ลำ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 5 ลำ มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 13.7 ชั่วโมงต่อวัน และมีแผนทยอยรับมอบเครื่องบินรุ่นใหม่ Airbus A321 Neo เพื่อเสริมศักยภาพฝูงบินให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยเครื่องบินรุ่นใหม่จะมาพร้อมระบบความบันเทิงส่วนตัวในทุกที่นั่ง และบริการ Wi-Fi ฟรี สำหรับสมาชิก Royal Orchid Plus ทุกระดับสถานะ เพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้โดยสารให้ดียิ่งขึ้นภายในปี 2568 นี้

นอกจากนี้ในส่วนของการยกระดับประสบการณ์ลูกค้าในไตรมาส 1/2568 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ทยอยติดตั้งระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง In-flight Connectivity (IFC) บนเครื่องบินแบบแอร์บัส A330-300 ซึ่งเริ่มให้บริการแล้วบนเครื่องบิน 2 ลำแรก ผู้โดยสารสามารถแชทและส่งข้อความได้แบบไม่จำกัดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ส่วนบริการอินเทอร์เน็ตเต็มรูปแบบเปิดให้ใช้งานฟรีสำหรับสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์ Royal Orchid Plus ตามระดับสมาชิกตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป

โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 เปรียบเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 297,753 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,245 ล้านบาท (1.8%) โดยเป็นเงินสดรวมตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำ และหุ้นกู้ ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 124,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,858 ล้านบาท และหนี้สินรวม 242,314 ล้านบาท ลดลง 4,605 ล้านบาท (1.9%)

ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 55,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,850 ล้านบาท (21.6%) โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Interest Bearing Debt to Equity) เท่ากับ 4.37 เท่า และ 2.23 เท่า ตามลำดับ ซึ่งดีขึ้นอย่างมากจากก่อนเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ณ สิ้นปี 2562 ที่ 20.66 เท่า และ 12.52 เท่า ตามลำดับ อันเป็นผลมาจากการปฏิรูปธุรกิจและการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีมติอนุมัติการลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) ของหุ้นของบริษัทฯ จากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1.30 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมทางบัญชี และเมื่อรวมกับกำไรจากการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ส่งผลให้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 บริษัทฯมีกำไรสะสมตามงบการเงินเฉพาะกิจการ 9,555 ล้านบาท เป็นผลให้ในอนาคตบริษัทฯ อาจสามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลได้

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีมติอนุมัติให้จดทะเบียนเลิกกิจการบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (สายการบินไทยสมายล์) ภายหลังดำเนินการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบินสำเร็จลุล่วงตามแผนอย่างดียิ่ง

โดยบริษัทฯ รับโอนเครื่องบินแบบแอร์บัส A320 เข้าประจำการในฝูงบินของบริษัทฯ ครบถ้วน และสายการบินไทยสมายล์หยุดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา ส่งผลให้ผลประกอบการในเส้นทางบินที่ใช้เครื่องบินแบบดังกล่าวทำการบินมีกำไรจากเดิมที่ขาดทุนภายใต้การดำเนินการโดยสายการบินไทยสมายล์ อันมีปัจจัยสำคัญจากปริมาณการผลิต (ASK) จำนวนผู้โดยสาร อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ผลตอบแทนต่อหน่วย (Yield) รายได้จากการบรรทุกผู้โดยสาร สินค้า และไปรษณีย์ภัณฑ์ ที่เพิ่มสูงขึ้นจากความสามารถในการพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบินและโอกาสหารายได้จากการขายแบบเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางบินที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงจากอัตราการใช้เครื่องบินที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าในการออกจากการฟื้นฟูกิจการภายหลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ และได้ดำเนินการจดทะเบียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกรรมการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ส่งผลให้บริษัทฯดำเนินการตามผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการครบถ้วนแล้ว

โดยบริษีทได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล โดยศาลล้มละลายกลางกำหนดนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 4 มิถุนายน 2568 เวลา 9.00 น. โดยคาดว่าศาลล้มละลายกลางจะอนุมัติยกเลิกการฟื้นฟูกิจการภายในเดือนมิ.ย.2568

“สำหรับแผนการนำหุ้น THAI กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้ยุติการฟื้นฟูแล้ว เมื่อศาลมีคำสั่งยุติการฟื้นฟูหน้าที่ของผู้บริหารแผนจะหมดลง และอำนาจการบริหารจะกลับคืนสู่ผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ หลังจากนั้นจะมีขั้นตอนในการยื่นขอให้หุ้นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่าหุ้นจะเข้าซื้อขายได้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคม 2568” นายปิยสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/2568 น่าพอใจมาก โดยรายได้รวมอยู่ที่ 51,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 9,839 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 306.10% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 2,423 ล้านบาท ส่งผลทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 45,589 ล้านบาท ณ 31 ธันวามคม 2567 มาเป็น 55,439 ล้านบาท ณ 31 มี.ค. 2568 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดทางการเงินดีขึ้นมาก

โดยปัจจัยที่สนับสนุนผลประกอบการ ผลประกอบการที่ดีส่วนหนึ่งมาจากการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของบริษัทนอกจากนี้สถานการณ์ภายนอก เช่น สงครามอิสราเอล-ฮามาส ส่งผลให้สายการบินอื่นปิดเส้นทางบินทำให้การบินไทยสามารถเรียกเก็บค่าโดยสารได้สูงขึ้น

ส่วนเครื่องบินที่ใช้งานเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 78 ลำ ลดลงเล็กน้อยจาก 79 ลำในปีที่แล้ว และปัจจุบันอยู่ที่ 77 ลำ เนื่องจากมีการนำเครื่องบินเข้าสู่กระบวนการซ่อมบำรุง คาดว่าจำนวนเครื่องบินถึงสิ้นปีจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก (ประมาณ 80 ลำ) ด้วยจำนวนเครื่องบินที่ไม่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้จะไม่มีการเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ หรือเพิ่มความถี่มากนัก อาจมีการลดบางเส้นทางเพื่อนำเครื่องไปซ่อมบำรุง

ส่วนแนวโน้มผู้โดยสารไตรมาส 2 และ 3 ตัวเลขเดือนเมษายนยังสดใส ส่วนหนึ่งจากปัจจัยอีสเตอร์ทำให้มีการเดินทางระยะไกล แม้เดือนพฤษภาคมเป็นช่วง Low Season แบบดั้งเดิม แต่การจองล่วงหน้าสำหรับพฤษภาคมและมิถุนายนดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

Back to top button