บอร์ด “รฟท.” ขยายสัญญาอุโมงค์ไฮสปีด “ไทย-จีน” เคาะเวนคืนที่ดินเฟส 2 วงเงิน 1.2 หมื่นลบ.

บอร์ด รฟท. มีมติเห็นชอบขยายเวลาสัญญาก่อสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสแรก ออกไปอีก 181 วัน หลังส่งมอบพื้นที่ล่าช้า พร้อมเคาะเวนคืนที่ดินในเฟส 2 ครอบคลุม 4 จังหวัด วงเงินรวม 12,418 ล้านบาท เตรียมเสนอ ครม. พิจารณาเดินหน้าโครงการต่อ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ด รฟท.  เมื่อวันที่ 15 พ.ค.68 มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินงานตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา) สัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ออกไปอีก 181 วัน

โดยจากเดิมที่จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 7 มิ.ย.68 โดยกำหนดวันสิ้นสุดสัญญาใหม่เป็นวันที่ 5 ธ.ค.68 พร้อมกับให้ปรับแผนการเชื่อมประสานงานก่อสร้างให้สอดคล้องกับการขยายสัญญา โดยผู้รับจ้างไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่าย หรือค่าทดแทนใด ๆ รวมถึงไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากที่ปรึกษา รวมทั้ง รฟท. ไม่เสียประโยชน์ และไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการอื่น ๆ แต่อย่างใด

สำหรับสาเหตุที่ต้องขยายเวลาออกไป เนื่องจาก รฟท. ส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้างก่อสร้างล่าช้า จากการเวนคืนพื้นที่ ซึ่งกระทบงานก่อสร้าง 2 รายการ คือ งานก่อสร้างคันทางรถไฟระดับดิน ช่วง DK.134+765 – DK.135+385 และงานก่อสร้างสะพานผาเสด็จ 3 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน รฟท. ได้ส่งมอบพื้นที่เวนคืนทั้งหมดให้กับผู้รับจ้าง 100% แล้ว พร้อมเร่งรัดให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่ปรับใหม่ เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง และแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

ส่วนสัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับอุโมงค์ ช่วงมวกเหล็กและลำตะคอง มูลค่า 4,279,309,390 ล้านบาท ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร ครอบคลุมงานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟ ระยะทาง 8 กิโลเมตร คันทางรถไฟระดับดิน ระยะทาง 3.27 กิโลเมตร โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทาง 0.96 กิโลเมตร รวมถึงอาคารและสิ่งปลูกสร้าง รองรับงานระบบรถไฟฟ้า 4 แห่ง พร้อมถนนเชื่อมต่อ ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.64 ปัจจุบันมีความคืบหน้า 90.94%

นอกจากนี้ บอร์ด รฟท. ยังให้ความเห็นชอบเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่โครงการดังกล่าว เสนอต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ประกอบด้วยพื้นที่บางส่วนของจังหวัดนครราชสีมา, ขอนแก่น, อุดรธานี และหนองคาย ที่ดินจำนวน 1,991 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,345 ไร่ และสิ่งปลูกสร้าง 1,428 รายการ ด้วยวงเงิน 12,418.61 ล้านบาท

ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 15 พ.ย.67 และคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ก.พ.68 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา

โครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นหลังสถานีนครราชสีมา และสิ้นสุดที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง (ฝั่งไทย) รวมทั้งหมด 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีบัวใหญ่, สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) 2 แห่ง ที่นาทา และเชียงรากน้อย ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง (Maintenance Base) 4 แห่ง ที่บ้านมะค่า หนองเม็ก โนนสะอาด และนาทา รวมถึงย่านเก็บตู้สินค้าและเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง ที่นาทา รวมระยะทางประมาณ 357.22 กิโลเมตร

ถือเป็นโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาเส้นทางสายใหม่ One Belt One Road (OBOR) โดยจะเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและขนส่งระหว่าง 3 ประเทศ ไทย – ลาว – จีน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พร้อมทั้งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยการเชื่อมโยงเมืองหลัก เมืองรอง และพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เข้าถึงกันอย่างไร้รอยต่อ

Back to top button