
ครม.เคาะร่าง “พ.ร.บ. รฟม.” กรุยทางตั๋วร่วม-รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
ครม. เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ. รฟม. และ พ.ร.บ. ตั๋วร่วม เปิดทางใช้กลไกกองทุนหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คาดเริ่มได้ภายใน ก.ย. 68
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฉบับปรับปรุง ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 1 ถึงวาระที่ 3 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2568
สาระสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ. รฟม. ฉบับนี้ คือการปรับปรุงบทบัญญัติว่าด้วย “กองทุนรายได้” ซึ่งเดิมจำกัดให้สามารถรับเพียงเงินบริจาค ไม่สามารถดำเนินการกู้ยืมได้ จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้สอดรับกับร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับจะต้องดำเนินไปควบคู่กัน เพื่อให้ระบบสนับสนุนทางการเงินของตั๋วร่วมมีความพร้อมทันในช่วงเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการเริ่มใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสายอย่างเป็นรูปธรรม” นายสุริยะกล่าว
ทั้งนี้ รฟม. เคยเสนอใช้เงินสะสมจากผลประกอบการเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว แต่ติดข้อจำกัดตามระเบียบการคลังที่กำหนดให้รายได้ทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ส่งผลให้เงินสะสมของ รฟม. ซึ่งมีอยู่ราว 15,000 – 16,000 ล้านบาท ไม่สามารถนำมาใช้ได้โดยตรง
แนวทางเบื้องต้นจึงกำหนดให้ รฟม. นำส่งเงินสะสมเข้าสู่กระทรวงการคลัง ก่อนที่กระทรวงการคลังจะจัดสรรกลับมาในรูปแบบเงินกู้ให้แก่กองทุนภายใต้ พ.ร.บ. ตั๋วร่วม ซึ่งจะเป็นผู้บริหารจัดการเงินเพื่อนำไปสนับสนุนค่าโดยสารให้เป็นไปตามนโยบาย โดยกระทรวงการคลังยืนยันว่าการกู้เงินผ่านกองทุนจะไม่ถูกรับรู้เป็นหนี้ในงบดุลของ รฟม.
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดตั้ง “กองทุนค่าธรรมเนียมรถติด” (Congestion Charge) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากพื้นที่ที่มีความแออัดและนำรายได้ไปใช้ในภารกิจซื้อคืนระบบรถไฟฟ้าจากเอกชนในอนาคต เพื่อลดภาระงบประมาณและการอุดหนุนจาก รฟม.
รัฐบาลย้ำว่าการเดินหน้านโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จะต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายและกลไกการเงินที่มีความยั่งยืนและตรวจสอบได้ โดยกระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดการดำเนินงานทั้งด้านนิติบัญญัติและการบริหารจัดการ เพื่อให้ทันเป้าหมายที่วางไว้ภายในปีนี้