
ASEANรวมพลัง! “อันวาร์” ชูธงเจรจา “ทรัมป์” สกัดสงครามการค้า – ย้ำแนวคิดความเป็นศูนย์กลาง
เปิดฉากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 46 ที่มาเลเซีย “อันวาร์ อิบราฮิม” เผยส่งสารถึง “โดนัลด์ ทรัมป์” หวังเปิดโต๊ะถกภาษีศุลกากร ชี้ “อาเซียน” ต้องยืนหยัดร่วมรับมือแรงกดดันการค้า ขณะนายกฯ “แพทองธาร” เข้าร่วมประชุมด้วย
วันนี้ (26 พ.ค. 2568) เว็บไซต์ JakartaGlobe.id รายงานว่า นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เปิดเผยระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ครั้งที่ 46 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยระบุว่าได้ส่งจดหมายถึง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อเสนอให้จัดการประชุมร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการ “ภาษีตอบโต้” (Reciprocal Tariffs) ที่รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมนำมาใช้กับสินค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การประชุมครั้งนี้มีผู้นำจากประเทศสมาชิกเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง รวมถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งเข้าร่วมการประชุมอย่างเป็นทางการ เพื่อหารือท่าทีร่วมของภูมิภาคต่อประเด็นเศรษฐกิจ การค้า และความมั่นคง
บรรยากาศในที่ประชุมสะท้อนความกังวลของผู้นำต่อท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ แสดงจุดยืนชัดเจนว่าพร้อมจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมจากประเทศคู่ค้ารายสำคัญทั่วโลก รวมถึงกลุ่มอาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาดุลการค้าของสหรัฐฯ
ภาษีดังกล่าวอาจสูงถึงกว่า 40% ในบางประเทศ ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคกลายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากมาตรการนี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม
นายอันวาร์กล่าวต่อที่ประชุมว่า แนวคิด “อาเซียนเป็นศูนย์กลาง” (ASEAN Centrality) มีบทบาทสำคัญในการรวมพลังของภูมิภาค เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
“ผมได้เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อขอให้จัดการประชุมระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียน เราจริงจังกับหลักการความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค” นายอันวาร์ กล่าวซึ่งมีการถ่ายทอดผ่านช่องข่าวของมาเลเซีย Berita RTM
แม้ว่าส่วนใหญ่ของการประชุมจะไม่เปิดเผยต่อสื่อมวลชน แต่คาดว่าผู้นำทั้ง 10 ประเทศสมาชิกจะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับท่าทีต่อสงครามการค้า ในแถลงการณ์ร่วมที่คาดว่าจะเผยแพร่เร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ หลายประเทศได้เริ่มเจรจาแบบทวิภาคีกับรัฐบาลสหรัฐฯ แล้ว เช่น กัมพูชา ซึ่งถูกกำหนดอัตราภาษีสูงถึง 49% และอินโดนีเซีย ซึ่งตั้งเป้าสรุปข้อตกลงกับสหรัฐฯ ให้ได้ภายใน 60 วัน
อัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อประเทศอาเซียน (ตามรายงาน Jakarta Globe) มีดังนี้
- กัมพูชา 49%
- ลาว 48%
- เวียดนาม 46%
- เมียนมา 44%
- ไทย 36%
- อินโดนีเซีย 32%
- มาเลเซีย, บรูไน 24%
- ฟิลิปปินส์ 17%
- สิงคโปร์ 10% (ภาษีพื้นฐาน)
ในปี 2567 สหรัฐฯ มีมูลค่าการค้ารวมกับอาเซียนอยู่ที่ 476.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเข้าจากภูมิภาคนี้ 352.3 พันล้านดอลลาร์ และเกิดดุลการค้าขาดดุลสูงถึง 277.7 พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ในถ้อยแถลงก่อนหน้านี้ กลุ่มอาเซียนได้เรียกร้องให้มีการเจรจาภาษีอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ กับสหรัฐฯ พร้อมย้ำว่าอาเซียนจะไม่ดำเนินมาตรการตอบโต้ใด ๆ เพื่อคงไว้ซึ่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน