
พาราสาวะถี
ย้อนประวัติการพิจารณาคดีที่นายกรัฐมนตรีถูกยื่นถอดถอน ผ่านกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ มีจำนวนทั้งหมด 6 คน โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเพียงคนเดียวที่ถูกร้องและไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง
ย้อนประวัติการพิจารณาคดีที่นายกรัฐมนตรีถูกยื่นถอดถอน ผ่านกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ มีจำนวนทั้งหมด 6 คน โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเพียงคนเดียวที่ถูกร้องและไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง หรือพูดง่าย ๆ ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร แต่อีก 5 คนที่เหลือ ถ้าพูดตามภาษาที่อุปโลกน์กันขึ้นมาก็คือ คนในระบอบทักษิณทั้งหมดนั่นเอง เช่นเดียวกัน 4 คนก่อนหน้านั้นถูกสั่งให้พ้นจากเก้าอี้ทั้งหมด
นับตั้งแต่ สมัคร สุนทรเวช ที่มีการเปิดพจนานุกรมชี้ความผิดจากการไปทำกับข้าวออกทีวีเมื่อเดือนกันยายน 2551 ตามมาด้วย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่รับไม้ต่อก่อนจะมีการชี้ขาดยุบพรรคพลังประชาชน และทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน กระทั่งมาถึง เศรษฐา ทวีสิน ที่ถูกสอยไปเมื่อ 14 สิงหาคม 2567 มาปีนี้ แพทองธาร ชินวัตร ต้องลุ้นอีกคำรบจะรอดหรือร่วง พวกที่มองโลกในแง่ดีก็บอกว่า มีสิ่งที่เหมือนอดีตผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจคือ ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนทำการวินิจฉัย
มองกันไปในทำนองว่าน่าจะมีโอกาสหลุดเหมือนที่อดีตหัวหน้า คสช.รอดในเวลานั้น ต่างกรรมต่างวาระ ประโยคนี้ยังคงใช้ได้อยู่ ขนาดกรณีความผิดที่ใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกันผลยังออกมาไม่เหมือนกัน ดังนั้น กรณีนี้เช่นเดียวกัน ข้อกล่าวหาและความผิดระหว่างแพทองธารกับอดีตผู้นำเผด็จการแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่ากระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ที่แปรสภาพมาเป็นนิติสงครามหลังยุคคนดีย์ ไม่เคยเป็นคุณกับคนในเครือข่ายทักษิณแม้แต่น้อย
เห็นการวางหมากให้อุ๊งอิ๊งไปนั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พอดูออกแล้วว่า เป็นการจัดเกมยื้อเวลา ให้ลูกสาวของนายใหญ่ได้อยู่ร่วมรัฐบาลต่อไปจนถึงวันที่มีการชี้ขาดในคดี เพื่อประสานสัมพันธ์จับมือกันกับพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันให้เหนียวแน่น หากต้องพ้นจากตำแหน่งแล้วต้องเลือกนายกฯ ใหม่ แคนดิเดตคนสุดท้ายของเพื่อไทยอย่าง ชัยเกษม นิติสิริ จะถูกนำมาใช้งาน แต่การเลือกเดินแบบนี้ต้องยอมรับในต้นทุนที่ต้องจ่าย
รายชื่อรัฐมนตรีที่ผ่านการปรับ เห็นได้ชัดว่าเป็นการวางตัวคนตามสัดส่วนของ สส.ที่แต่ละพรรคมี จุดไหนที่เปราะบางต่อการแตกหักระหว่างกันก็ไม่แตะ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ของ สุชาติ ชมกลิ่น ที่เดิมทีมีข่าวว่าจะข้ามห้วยมาเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย สุดท้ายก็ได้อยู่ในตำแหน่งช่วยพาณิชย์เหมือนเดิม เท่ากับเป็นการยอมงอไม่ยอมหัก เนื่องจากก่อนหน้านี้ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ แสดงความไม่พอใจต่อข่าวดังกล่าวเป็นอย่างมาก
เช่นเดียวกับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ของ ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ ลูกชายของ ฐากร แกนนำคนสำคัญของเสียง สส.พรรคไทยสร้างไทยที่ยกมือหนุนรัฐบาลมาตลอด จากที่ก่อนหน้านั้นเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยตัวนี้มีการเจรจาจากทาง ธรรมนัส พรหมเผ่า จะขอให้ นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ประธานยุทธศาสตร์พรรคกล้าธรรม แต่ใช้โควตาไทยสร้างไทย ในที่สุดก็ต้องมีฝ่ายที่ยอมถอย ซึ่งต้องเป็นคนที่นายใหญ่สามารถสั่งได้และฝ่ายรับคำสั่งก็เต็มใจ
การควบเก้าอี้รัฐมนตรีวัฒนธรรมของแพทองธาร ทำท่าว่าจะมีปัญหาเสียแล้ว เมื่อฝ่ายตรงข้ามต่างดาหน้าพากันออกมาเรียกร้องไม่ให้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ โดยอ้างว่ายังมีปัญหาคุณสมบัติ จากการที่ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พวกขาประจำจึงเคลื่อนไหวถึงขนาดไปยื่นให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกกระทอก ก็บอกแล้วว่านิติสงครามจะถูกงัดมาใช้กันอุตลุด รุมสหบาทากันแบบนี้ อย่าได้ถามถึงว่าแล้วประเทศจะเดินหน้ากันอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ที่ต้องจับตากับการปรับครม.หนนี้ คือการหวนคืนเก้าอี้เสนาบดีของ “ตี๋กร่าง” สุชาติ ตันเจริญ กับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ดูเหมือนจะเป็นตำแหน่งที่นักเลือกตั้งส่วนใหญ่ไม่อยากได้ เนื่องจากบทบาทและอำนาจการกำกับดูแลนั้นแทบจะไม่มีอะไรให้สร้างผลงานได้ แต่การที่นายใหญ่เลือกให้คนบ้านริมน้ำเข้ามาในจังหวะนี้ เพราะรู้ดีว่านี่คือมือประสานสิบทิศ ที่สามารถต่อสาย สร้างสัมพันธ์ได้ทั้งกับคนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือแม้กระทั่งฝ่ายอนุรักษนิยมเองก็ตาม
ถือเป็นตำนานคนบ้านใหญ่ที่แม้จะมีกระแสต่อต้านจากการปลุกระดมของทั้งขบวนการไอโอยุคเผด็จการสืบทอดอำนาจ รวมทั้งพรรคการเมืองสุดโต่ง แต่ยังมีบารมีทางการเมืองที่นักเลือกตั้งทุกฝ่ายต่างให้ความเกรงอกเกรงใจ การเข้ามาหนนี้ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ประสานเรื่องสำคัญระหว่างรัฐบาลกับบรรดาผู้มีพลังที่จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาลเท่านั้น งานนี้น่าจะได้รับหน้าที่เป็นประธานวิปรัฐบาลในฝั่งครม. เพื่อประสานงานในสภา เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ช่ำชอง ทันเกมของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นอย่างดี
ดังนั้น การที่พรรคฝ่ายค้านหน้าใหม่หรือที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายแค้นอย่างภูมิใจไทยฮึ่ม ๆ จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแพทองธารทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภานั้น ด้วยความที่นักเลือกตั้งส่วนใหญ่ให้ความเกรงอกเกรงใจ รวมไปถึงอาจารย์ใหญ่ของพรรคสีน้ำเงินในฐานะคนคุ้ยเคยที่อยู่ร่วมกลุ่ม 16 จากพรรคชาติไทยในอดีต ย่อมสามารถที่จะเจรจา ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ คนการเมืองรุ่นนี้เป็นประเภทที่รู้ดีว่า อนาคตการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน ที่เห็นว่าเป็นศัตรูคู่อาฆาตสามารถกลับมาจูบปากกันได้สบาย ๆ
การปรับครม.หนนี้ถ้ามองจากสายตาประชาชน คงจะมีเสียงยี้มากกว่าขานรับ มองดูเหมือนการปรับเพื่อวางทางถอย สำหรับเหล่าพรรคการเมืองด้วยกันแล้วต่างรู้ดีว่า นี่เป็นการเตรียมการเพื่อรุกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จัดสรรตัวคนทั้งที่เป็นมือประสานเพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อเสถียรภาพรัฐบาล และวางคนไว้เพื่อเตรียมความพร้อมในการสู้ศึกเลือกตั้ง มีทั้งรัฐมนตรีที่จะไปดูแลพรรคในเครือข่ายของเพื่อไทย คนที่จะยุบพรรคและโยกเอาสมาชิกทั้งหมดมาสังกัดพรรคแกนนำรัฐบาล คนเหล่านี้ต้องมีหัวโขน เพราะยังเชื่อมั่นว่า ฝ่ายกุมอำนาจรัฐจะได้เปรียบแต่ต้องใช้ให้เป็น
อรชุน