
IAA ชี้ SET ปีนี้แตะ 1,231 จุด แนะเก็บ 4 หุ้นเด่นเข้าพอร์ต
IAA ประเมินดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี 68 ทดสอบ 1,231 จุด แนะสอย 4 หุ้นเด่นรับครึ่งปีหลัง ADVANC-BDMS-CPALL-GULF ชูพื้นฐานแกร่ง-ได้อานิสงส์จากนโยบายรัฐ ท่ามกลางเศรษฐกิจเปราะบาง
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน IAA เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองการลงทุนในตลาดทุนไทยและคาดการณ์ทิศทางดัชนีไทย (SET Index) ประจำไตรมาส 3/2568 โดยการสำรวจครั้งนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามรวมทั้งสิ้น 22 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ 18 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 2 บริษัท และบริษัทโกลด์ฟิวเจอร์ส 2 บริษัท
ทั้งนี้ GDP ในปี 68 ถูกปรับลดลงจากรอบก่อนหน้า โดยผู้ตอบแบบสอบถามประเมินตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 1.87% จากเดิมในเดือนเมษายนที่ 2.56% สะท้อนความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังเปราะบาง ขณะที่สมมติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 68.65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยครึ่งหนึ่งของผู้ตอบคาดการณ์ไว้ในช่วง 60–69.99 ดอลลาร์
ด้านปัจจัยทางการเงินผู้ตอบใช้ Risk-Free Rate เฉลี่ยในการประเมินมูลค่าที่ระดับ 2.22% และ Market Risk Premium อยู่ที่ 7.74%
ในส่วนของมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 3/2568 พบว่า ผู้ตอบ 36.36% ประเมินว่าดัชนีจะเคลื่อนไหวในลักษณะ “Sideways” ไม่แตกต่างจากไตรมาสก่อน ในขณะที่อีก 36.36% เห็นว่ามีแนวโน้มปรับตัวลดลง และ 27.27% คาดว่า SET Index มีโอกาสปรับขึ้น โดยให้ค่าเฉลี่ยดัชนีสิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 1,166 จุด
ปัจจัยสำคัญที่ผู้ตอบให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดในไตรมาสนี้ ได้แก่ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และผลการเจรจาทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา
สำหรับการประเมินดัชนี SET Index ในช่วงครึ่งปีหลัง (ก.ค.–ธ.ค. 68) ผู้ตอบคาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ที่เฉลี่ย 1,267 จุด โดยช่วง 1,201–1,300 จุดได้รับคะแนนโหวตสูงสุดถึง 55.56% ส่วนจุดต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 1,023 จุด
โดยเป้าหมายสิ้นปี 2568 ของ SET Index ถูกประเมินเฉลี่ยไว้ที่ 1,231 จุด โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ซึ่งได้รับความเห็นเป็นบวกจากผู้ตอบถึง 90.91% รองลงมาคือทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ 72.73%
ทางกลับกัน ปัจจัยลบที่กดดันตลาดทุนไทยอย่างชัดเจน ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งได้รับความเห็นเป็นลบจากผู้ตอบทั้งหมด (100%) ตามมาด้วยสภาวะเศรษฐกิจในประเทศ (85.71%) และกระแสเงินทุนไหลออก รวมถึงความขัดแย้งทางการทูตระหว่างไทย–กัมพูชา (80.95%)
ด้านประมาณการ EPS ของตลาดหุ้นไทยในปี 2568 อยู่ที่ค่าเฉลี่ย 85.43 บาทต่อหุ้น โดย 83.33% ของผู้ตอบประเมินอยู่ในช่วง 80–89.99 บาท ขณะที่การเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS Growth) อยู่ที่เฉลี่ย 10.45%
ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นปี 2568 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ 71% คาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.50% จากปัจจุบันที่ 1.75% และอีก 29% มองว่าอาจปรับลดลงไปถึงระดับ 1.25%
สำหรับคำแนะนำในการจัดพอร์ตการลงทุน ผู้ตอบแบบสอบถามเสนอให้ถือเงินสดหรือเงินฝากระยะสั้นประมาณ 11.50% และลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ 20.25% ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง แนะนำให้จัดสรรในหุ้นต่างประเทศหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ 33.50% หุ้นไทย 19% ทองคำ 10.55% และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (REIT) 5.20%
หมวดธุรกิจไทยที่ควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์ เทคโนโลยีและการสื่อสาร ในขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม พลังงาน และปิโตรเคมี เป็นกลุ่มที่ควรลดน้ำหนักการลงทุน
ส่วนการลงทุนในต่างประเทศผ่านตราสาร DR หลักทรัพย์ที่ได้รับคำแนะนำตรงกันจากนักวิเคราะห์ 4 สำนักขึ้นไป ได้แก่ AAPL80, AMD80 และ NVDA80 ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจคือ ตราสารหนี้สหรัฐ, AI–Technology และ Selective Asia เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย และเกาหลีใต้
ข้อเสนอเชิงนโยบายที่รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ 40.74% เห็นควรเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve และเทคโนโลยี รองลงมาคือมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ (37.04%) และช่วยเหลือภาคประชาชน (22.22%) ผ่านโครงการภาษีและพัฒนาทักษะแรงงาน
โดยรายชื่อหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำโดยมีจำนวนสำนักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 4 บริษัทจดทะเบียนขึ้นไป มีดังนี้
1.บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC มองว่าผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2/2568 เติบโต โดยรายได้หลักๆ ธุรกิจมือถือ APRU เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงโมเมนตัมดี ส่วนธุรกิจลูกค้าองค์กร ได้แรงหนุน Data center and Cloud ขณะที่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก – พรีเมียร์ลีกอังกฤษ คาดส่งผลเชิงบวกในระยะยาวต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการ และต้องติดตามความคืบหน้าการประมูลคลื่น
2.บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS มองว่าเป็น Defensive play ที่ได้รับผลกระทบจำกัดจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่ ผลประกอบการไตรมาส 2/2568 คาดได้แรงหนุนจากผู้ป่วยในประเทศที่เร่งตัวขึ้น ตามโรคระบาดที่กลับมาอีกครั้ง
3.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ และคาดกำไร 2Q25 ยังเติบโตต่อเนื่อง
4.บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ปัจจัยสนับสนุนจากผลการดำเนินงานมั่นคงจากธุรกิจไฟฟ้าและ ADVANC จ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ โอกาสเติบโตเข้าสู่ธุรกิจ Digital
สำหรับหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ หุ้นบางบริษัทในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่ราคาเกินพื้นฐาน ได้รับผลกระทบจาก CAP WEIGHT และหุ้นที่มีประเด็นธรรมาภิบาลที่ต้องใช้เวลาสร้างความเชื่อมั่น