
ดาวโจนส์พุ่ง 304 จุด รับจ้างงานภาคเกษตรสหรัฐ มิ.ย. เพิ่ม 1.47 แสนตำแหน่ง
“ดัชนีดาวโจนส์” พุ่ง 304 จุด ขานรับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร มิ.ย. เพิ่ม 1.47 แสนตำแหน่ง สูงกว่าคาด ทำให้นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงาน (3 ก.ค.68) ณ เวลา 21.29 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 44,789.16 จุด บวก 304.74 จุด หรือ 0.69% ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ดีดตัวแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขานรับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าคาด ทำให้นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะเปิดการซื้อขายเพียงครึ่งวันในวันนี้ ก่อนที่จะปิดทำการในวันพรุ่งนี้ เนื่องในวันชาติสหรัฐ
ส่วนดัชนี S&P 500 และ Nasdaq บวก 0.77% และ 0.91% ตามลำดับ
นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่ง โดยคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน และธันวาคม จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 93.3% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนก.ค.
นอกจากนี้ FedWatch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือนก.ย. และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมเดือนธ.ค.
กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 147,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 111,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 144,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค.
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.1% สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.3%
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ค.เป็นเพิ่มขึ้น 144,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 139,000 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 74,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ขณะที่ภาครัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 73,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 3.7% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี และเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.3%
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 4,000 ราย สู่ระดับ 233,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 241,000 ราย
ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลง 3,750 ราย สู่ระดับ 241,500 ราย