
“การใช้ข้อมูลภายใน” และมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ควรรู้!
ถ้าใครได้ติดตามข่าวคราวในตลาดทุนบ้านเรา โดยเฉพาะในส่วนข่าวของ ก.ล.ต. ที่ดำเนินการด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง จะพบว่ามีการกระทำความผิดที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ถ้าใครได้ติดตามข่าวคราวในตลาดทุนบ้านเรา โดยเฉพาะในส่วนข่าวของ ก.ล.ต. ที่ดำเนินการด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง จะพบว่ามีการกระทำความผิดที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อย่างการปั่นหุ้น หรือการสร้างราคา การใช้ข้อมูลภายใน รวมถึงการที่กรรมการหรือผู้บริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น วันนี้ดิฉันเลยอยากชวนทุกคนมาเจาะลึกในส่วนของ “การใช้ข้อมูลภายใน” กันว่าลักษณะและพฤติกรรมแบบไหนที่เข้าข่ายการใช้ข้อมูลภายในบ้างและถ้าผู้กระทำผิดต้องได้รับการลงโทษโดยใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง การลงโทษที่ว่านี้เป็นแบบใด
หลายคนอาจเคยได้ยินเหตุการณ์ที่มีบางคนรู้ข้อมูลภายใน และใช้ข้อมูลนั้นทำให้ตัวเองได้เปรียบในการซื้อขายหลักทรัพย์มากกว่าผู้ลงทุนทั่วไป ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่าย การใช้ข้อมูลภายในก็คือการที่มีใครคนใดคนหนึ่งรู้ข้อมูลสำคัญที่คนอื่น ๆ ไม่รู้ ซึ่งข้อมูลนั้น ๆ มีผลกระทบต่อราคาหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ และที่สำคัญข้อมูลนั้นก็ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน เช่น ผลกำไร ผลการดำเนินงานของบริษัท รายได้ที่มีการเปลี่ยนแปลง การเพิ่มหรือลดทุน การจะจ่ายหรืองดจ่ายเงินปันผล ไม่ว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายของบริษัทที่กำลังจะประกาศ แล้วนำเอาข้อมูลนั้นไปใช้ซื้อขายหุ้นก่อนที่ข่าวจะออกมาจริง ๆ เพื่อทำกำไรหรือหลีกเลี่ยงการขาดทุน พอคนอื่นรู้ข่าวทีหลังก็จะเสียเปรียบ
ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น มีผู้บริหารคนหนึ่งรู้ว่าบริษัทกำลังจะซื้อขายกิจการครั้งใหญ่กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง หลังจากนั้นผู้บริหารคนดังกล่าวก็รีบบอกคนใกล้ชิดให้ไปกว้านซื้อหุ้นของบริษัทนั้นเก็บไว้ล่วงหน้า พอข่าวหรือข้อมูลถูกเปิดเผยสู่สาธารณะออกมาจริง ๆ ราคาหุ้นก็พุ่งสูง คนที่รู้ข้อมูลภายในก็ได้กำไรกับหุ้นตัวนี้ไปเป็นกอบเป็นกำ ส่วนผู้ลงทุนทั่วไปที่ไม่ทราบข้อมูลก็อาจจะซื้อไม่ทัน หรือซื้อได้ในราคาที่แพงกว่าปกติ ซึ่งก็ถือว่าไม่ยุติธรรมเลย
การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผย ถือว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการใช้ข้อมูลภายในตาม มาตรา 242 ในกรณีที่ ก.ล.ต. เห็นควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งมาดำเนินการตามกฎหมาย จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง หรือ ค.ม.พ. เป็นผู้พิจารณาว่าควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับคนที่กระทำผิดหรือไม่ แล้วจะลงโทษด้วยวิธีไหน อย่างการจ่ายค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ และห้ามเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งถ้าผู้กระทำผิดยินยอมรับโทษตามที่ระบุ การพิจารณาคดีจะถือเป็นที่สิ้นสุด แต่ถ้าผู้กระทำผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะทำหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งต่อไป
จริง ๆ แล้ว นอกจากมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ก.ล.ต. ใช้จัดการกับผู้กระทำผิดแล้ว ยังมีมาตรการอื่น ๆ อีก เช่น มาตรการทางปกครอง และมาตรการทางอาญา โดยทุกมาตรการก็เป็นไปเพื่อรักษาความเป็นธรรมและความน่าเชื่อถือของตลาดทุน เพียงแต่ขั้นตอนและการใช้เวลามากน้อยต่างกันตามความซับซ้อนของการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นค่ะ
ก่อนจากกันอยากจะของฝากทิ้งท้ายไว้สักนิดค่ะ การติดตามข่าวสารจาก ก.ล.ต. ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ลงทุนนะคะ เพราะจะช่วยให้เราเข้าใจกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และรู้เท่าทันกลโกงหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในตลาดหลักทรัพย์ การที่เราคอยตรวจสอบอยู่เสมอจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของเราเองค่ะ
ชวนคิด ชวนคุย กับ ก.ล.ต.
โดย นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต.