
ตลท.ชี้ SET มิ.ย. ร่วง 5.2% กดดันทั้งใน-นอก P/E เหลือ 11.9 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเอเชีย
ตลาดหลักทรัพย์เผย SET มิ.ย. ร่วง 5.2% ดันครึ่งปีแรกติดลบ 22% จากปัจจัยตปท.-การเมืองในปท. แม้ส่งออกโตช่วยหนุนเศรษฐกิจ ขณะ Forward P/E ณ มิ.ย. อยู่ที่ 11.9 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเอเชียที่ 12.4 เท่า
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ณ 30 มิถุนายน 2568 SET Index ปิดที่ 1,089.56 จุด ปรับลดลง 5.2% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2568 ปรับลดลง 22.2%
โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยกดดันทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ สำหรับปัจจัยภายนอกนั้น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านยังคงเป็นประเด็นสำคัญ แม้ในช่วงท้ายของเดือนจะมีสัญญาณบวกจากความพยายามในการเจรจาหยุดยิง แต่ความไม่แน่นอนในภูมิภาคยังคงส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม ขณะเดียวกัน ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการเจรจาทางการค้าระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในประเด็นภาษีนำเข้า-ส่งออก ก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นพิเศษ
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นประเด็นที่สร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งส่งผลต่อทิศทางการลงทุนในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ยังมีสัญญาณเชิงบวกปรากฏให้เห็นในบางส่วน โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าคาดการณ์ ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) สำหรับปี 2568 เป็น 2.3% จากประมาณการเดิมที่อยู่ในช่วง 1.8–2.1% โดยส่วนหนึ่งมาจากแรงเร่งในการส่งออกของผู้ประกอบการเพื่อบริหารความเสี่ยงจากสถานการณ์การค้า
ในส่วนของการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา เดิมมีกำหนดสิ้นสุดภายในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 อย่างไรก็ดี มีการขยายกำหนดการออกไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคม เพื่อเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เจรจากับประเทศคู่ค้าที่เหลือเพิ่มเติม โดยที่ผ่านมา มีบางประเทศที่สามารถตกลงเงื่อนไขได้แล้ว เช่น สหราชอาณาจักร จีน (ในบางขอบเขต) และเวียดนาม ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างที่ไทยสามารถนำมาใช้ประกอบการวางกลยุทธ์การเจรจาได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีแนวทางในการกำหนดภาษีที่แยกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ สินค้าที่ส่งออกโดยตรงจากประเทศต้นทาง และสินค้าที่มีลักษณะเป็นการส่งต่อ (transshipment) โดยมีการกำหนดสัดส่วนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะการค้าและบริบทของแต่ละประเทศ
ส่วนทิศทางบวกได้ภายในเวลาไม่นาน ตลาดหุ้นไทยได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในลักษณะเดียวกันตลอดเดือนที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสำนักแนะนำว่าการรักษาวินัยการลงทุนและเดินหน้าตามกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง หรือ “Stay Invest” จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนไม่พลาดโอกาสสำคัญ หากดัชนีตลาดสามารถพลิกกลับขึ้นได้อย่างรวดเร็วและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะถัดไป
เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากภาคการผลิตและการเร่งส่งออกสินค้า ส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่หลังจากวันสุดท้ายที่มีการเปิดขายกองทุนรวม Thai ESGX มี Fund Flow ของผู้ลงทุนเข้ามาอยู่ในกรอบกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงหุ้นไทยในช่วงความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง อีกทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางแผนสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนในหลายมิติผ่านโครงการ “JUMP+” เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย
ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 39,663 ล้านบาท หรือลดลง 10.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมอยู่ที่ 41,856 ล้านบาท ลดลง 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับเดือนมิถุนายน 2568 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บริษัท นูทริชั่น โปรเฟส จำกัด (มหาชน) หรือ NUT
Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นมิถุนายน 2568 อยู่ที่ระดับ 11.9 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 14.4 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.3 เท่า
อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นมิถุนายน 2568 อยู่ที่ระดับ 4.51% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.30%
ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เดือนมิถุนายน 2568
ณ 30 มิถุนายน 2568 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 442,877 สัญญา เพิ่มขึ้น 24.1% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures โดยตลอดปี 2568 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 438,459 สัญญา ลดลง 9.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของ Single Stock Futures และ Gold Online Futures