
CGSI ชี้ยอดขายสาขาเดิม “กลุ่มค้าปลีก” ไตรมาส 2 เสี่ยงติดลบ เซ่นแรงกดดันรอบด้าน
CGSI คาดไตรมาส 2/68 กลุ่มค้าปลีกไทยเผชิญ SSSG ติดลบถ้วนหน้า จากบริโภคในประเทศชะลอ นักท่องเที่ยวลดลง ความไม่แน่นอนทางการเมือง กดดันทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค-แฟชั่น-บ้าน
ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI เปิดเผยบทวิเคราะห์ว่า ในไตรมาส 2/2568 กลุ่มค้าปลีกของไทยกลับมาอยู่ภายใต้แรงกดดันอีกครั้ง โดยประเมินว่าบริษัทค้าปลีกส่วนใหญ่ที่อยู่ในการศึกษาของฝ่ายวิเคราะห์ น่าจะมีอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (Same-Store Sales Growth: SSSG) ติดลบเกือบทั้งหมด จากภาวะการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
สาเหตุสำคัญเกิดจากปัจจัยลบทางมหภาค ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ปีที่แล้วยังเป็นช่วงฐานสูงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งกระตุ้นยอดขายเครื่องดื่มและเครื่องปรับอากาศ ทำให้ฐานเปรียบเทียบในปีนี้สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อยอดขายกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและ home improvement
บริษัทที่อยู่ในการศึกษาของ CGSI ประกอบด้วย BJC, CPALL, CPAXT, CRC, DOHOME, GLOBAL, HMPRO และ MOSHI โดยแม้กลุ่มค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคจะมีความยืดหยุ่นมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ยังคาดว่าจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ 7-Eleven, BigC และ Lotus’s ประเทศไทย ซึ่งน่าจะมี SSSG ติดลบเล็กน้อยจากยอดขายเครื่องดื่มและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง
ทั้งนี้ CPAXT ถูกมองว่าเป็นผู้ค้าปลีกรายเดียวที่อาจ outperform เนื่องจาก Makro มียอดขายออนไลน์ที่เติบโต ขณะที่ Lotus’s ประเทศมาเลเซียได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ในส่วนของผู้ค้าปลีกสินค้า home improvement เช่น DOHOME, GLOBAL และ HMPRO คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดในไตรมาสนี้ โดยทั้งหมดน่าจะเผชิญ SSSG ติดลบ และแรงกดดันดังกล่าวอาจยืดเยื้อไปถึงครึ่งหลังของปี 2568 จากแนวโน้มความต้องการที่อยู่อาศัยที่ลดลงและเกณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวด
สำหรับกลุ่มแฟชั่น CGSI ประเมินว่า CRC จะได้รับผลกระทบในเชิงลบจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ลดลง โดยเฉพาะชาวจีน และการชะลอการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยในไทยและอิตาลี ตรงข้ามกับ MOSHI ที่คาดว่าจะโดดเด่นในไตรมาสนี้ ด้วยอัตรา SSSG เติบโตถึง 15% หรือ 5-6% หากตัดผลจากฐานต่ำ โดยได้รับแรงหนุนจากกลยุทธ์ตั้งราคาที่เข้าถึงได้ การพัฒนานวัตกรรมสินค้า และการจัดร้าน (Visual Merchandising) ที่มีประสิทธิภาพ
CGSI แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral)” กลุ่มค้าปลีก สะท้อนมุมมองว่าตลาดได้ตอบรับแนวโน้มการบริโภคที่อ่อนตัวแล้ว โดยราคาหุ้นค้าปลีกในปี 2568 ซื้อขายที่ระดับ P/E เฉลี่ย 14.6 เท่า หรือ -1.7 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานจากค่าเฉลี่ย 3 ปี
อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิเคราะห์มองว่า BJC และ CPALL ยังคงเป็นหุ้นปลอดภัยจากแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่ชัดเจน ส่วน MOSHI แม้จะไม่ใช่หุ้น Defensive แต่มีศักยภาพในการเติบโตสูง จากแรงหนุนด้าน SSSG ที่แข็งแกร่ง อัตรากำไรที่เพิ่มขึ้น และแผนขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กลุ่มค้าปลีกยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านบวก (upside risk) หากการบริโภคภายในประเทศฟื้นเร็วกว่าคาด และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ส่วนปัจจัยเสี่ยงด้านลบ (downside risk) ได้แก่ ความต้องการของผู้บริโภคที่ซบเซายาวนาน และภาระต้นทุนจากค่าแรงที่สูงขึ้น