CGSI ลดน้ำหนักลงทุน “หุ้นปิโตรเคมี” เซ่นอุปทาน “เอทิลีน” ล้นตลาด

CGSI แนะลดน้ำหนักลงทุนในหุ้น “ปิโตรเคมี” เหตุอุปทานเอทิลีนทั่วโลกเพิ่มขึ้นสวนทางกับอุปสงค์ ขณะที่จีนรุกตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์กระทบผู้ผลิตไทยในระยะกลาง


ฝ่ายวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI เปิดเผยบทวิเคราะห์ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 โดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า บริษัท Dow Inc. เตรียมปิดโรงงานผลิตเอทิลีน (ethylene cracker) ในเมือง Bohlen ประเทศเยอรมนี มีกำลังการผลิต 560,000 ตันต่อปี อย่างถาวรภายในไตรมาส 4/2570 ซึ่งเมื่อรวมกับโรงงานในภูมิภาคอื่น คาดว่าจะมี cracker ปิดถาวรรวม 6 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 2.94 ล้านตันต่อปี ระหว่างปี 2568–2570

อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตที่ปิดถาวรดังกล่าวยังไม่เพียงพอชดเชยกับแผนการขยายกำลังผลิตใหม่ทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 17.6 ล้านตันต่อปีในช่วงเดียวกัน ส่งผลให้มีอุปทานสุทธิเพิ่มขึ้นประมาณ 9–13 ล้านตันต่อปีในปี 2569–2571 เทียบกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเพียง 6.8–7.3 ล้านตันต่อปี CGSI คาดว่าจำเป็นต้องมีโรงงานขนาดเล็กอีก 5–13 แห่ง ปิดถาวรเพิ่มเติม เพื่อให้ตลาดกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล

ขณะเดียวกัน CMA รายงานว่า สหรัฐได้ยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกอีเทนไปจีนเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 ส่งผลให้โรงงานผลิตเอทิลีนในจีนมีแนวโน้มเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตจาก 76% ในเดือนกรกฎาคม เป็น 79% ในเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากสามารถเข้าถึงวัตถุดิบได้มากขึ้น ส่วนโรงงานในอาเซียนยังเผชิญข้อจำกัดด้านต้นทุนวัตถุดิบและการหยุดซ่อมบำรุง คาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตยังคงต่ำกว่า 71%

สำหรับผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ เช่น PET, PE, PP และ PVC นั้น CGSI ระบุว่าได้รับการยกเว้นจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐ หากไทยไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงจากการทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดไทย เนื่องจากจีนเปลี่ยนเส้นทางการส่งออกจากสหรัฐไปยังประเทศอื่น ข้อมูลจากสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) พบว่าการส่งออกพอลิเมอร์จากจีนมาไทยเพิ่มขึ้นถึง 12–103% ระหว่างปี 2563–2567

อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยด้านอุปทานส่วนเกิน การแข่งขันจากจีน และความต้องการที่ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด CGSI จึงยังคงคำแนะนำ “ลดน้ำหนักการลงทุน” (Underweight) สำหรับหุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีของไทย โดยมองว่าความเสี่ยงขาลงยังมีอยู่มาก แม้จะมีปัจจัยบวกจากต้นทุนวัตถุดิบที่อาจลดลงหรือราคาสินค้าที่สูงกว่าคาดก็ตาม

Back to top button