รัฐบาลไม่ถอย! ดัน “รถไฟฟ้า 20 บาท” จ่อชงแก้ 3 กฎหมายเข้าสภา ส.ค. นี้

รัฐบาลเดินหน้าเต็มสูบผลักดันนโยบายเรือธง “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ให้เกิดขึ้นจริงตามสัญญา ล่าสุดกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมายและปูทางให้รัฐสามารถอุดหนุนส่วนต่างค่าโดยสาร


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในเวทีเสวนาร่วม ภายในงาน “ปลดล็อก อนาคตประเทศไทย สู้วิกฤติโลก” จัดโดย MCOT เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 ว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถือเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ที่เริ่มต้นตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องถึงรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร

นางมนพร กล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถของพรรคเพื่อไทย เพราะทุกครั้งที่พรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นรัฐบาล ยึดแนวคิดคิดถึงประชาชนในทุกมิติ ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 ที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้ารับตำแหน่งขับเคลื่อนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท โดยเริ่มนำร่องในรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง พบว่าจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 30% รัฐบาลมองว่าเป็นสัญญาณสำคัญในการเดินหน้าลดรายจ่ายและขยายการเข้าถึงบริการสาธารณะให้กับทุกกลุ่ม

ทั้งนี้ การเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขนส่งทางราง, ร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม โดยคาดว่าเดือนสิงหาคมนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2–3 ของสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการนำเงินภาษีของคนต่างจังหวัดมาอุดหนุนคนกทม. นายมนพร ชี้แจงว่า ในปี พ.ศ. 2567 งบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลพบว่า กรุงเทพฯ จัดเก็บภาษีได้ราว 48–49% ของทั้งประเทศ ขณะที่ภาคเหนือจัดเก็บได้ประมาณ 1.9% ภาคอีสาน 2.8% และภาคใต้ 1.6% โดยประเทศไทยบริหารด้วยรัฐเดียว รายได้ภาษีถือเป็นรายได้รวมของรัฐบาล ไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นเงินคนต่างจังหวัดที่ส่งให้กทม. อีกทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในกทม. ส่วนใหญ่ก็มาจากต่างจังหวัดเช่นกัน

นอกจากนี้ รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ไม่ได้คิดแค่มิติรถไฟฟ้า 20 บาท แต่ยังวางแผนสร้างระบบฟีดเดอร์ (Feeder System) โดยได้อนุมัติงบประมาณเพื่อจัดหารถโดยสารไฟฟ้า (EV) ทั่วกทม. เพื่อลดการใช้รถ ขสมก เก่า ๆ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังเร่งผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ภาคใต้ ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เป็นโครงการที่ริเริ่มในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน โครงการนี้มีมูลค่ารวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท ครอบคลุมการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ชุมพรและระนอง การสร้างรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ โดยมีนักลงทุนจากหลายประเทศให้ความสนใจ เชื่อว่าจะยกระดับศักยภาพการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ทางทะเลและช่วยลดต้นทุนขนส่งของไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านการเชื่อมต่อภูมิภาค รัฐบาลเร่งเดินหน้ารถไฟรางคู่ กทม.-นครราชสีมา-หนองคาย เพื่อเชื่อมการค้าสู่ สปป.ลาว เวียดนาม และจีน รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) เพื่อยกระดับบทบาทไทยในห่วงโซ่เศรษฐกิจเอเชีย

นายมนพร ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยปลดล็อกวิกฤติของประเทศไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน สร้างงาน สร้างอาชีพ และทำให้ประเทศไทยยิ่งใหญ่อีกครั้ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

“ชัชชาติ” คาดสัปดาห์นี้ ถก 3 ฝ่าย “คมนาคม-เอกชน-กทม.” ปมนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท

“สุริยะ” แจงชัด! นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทเพื่อคนไทย ไม่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

ครม. เคาะรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เริ่ม 1 ต.ค. นี้ ลงทะเบียนผ่านแอป “ทางรัฐ”

Back to top button