
WTI ปิดลบ 1.3% ต่ำสุดรอบ 3 สัปดาห์ กังวลเศรษฐกิจ-อุปทานล้นตลาด
ราคาน้ำมัน WTI และ Brent ปรับลดแรง หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีนส่งสัญญาณชะลอตัว พร้อมข่าวการผลิตและส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น ด้านตลาดจับตาข้อตกลงการค้าและท่าทีโอเปกพลัส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยดัชนี WTI ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ สะท้อนความวิตกของนักลงทุนต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกจากสหรัฐฯ และจีน รวมถึงแนวโน้มอุปทานน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แม้ยังมีแรงหนุนจากความหวังต่อข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรปที่จะกระตุ้นความต้องการพลังงาน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนกันยายน ลดลง 87 เซนต์ หรือ -1.32% ปิดที่ระดับ 65.16 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ส่งมอบเดือนกันยายน ลดลง 74 เซนต์ หรือ -1.07% ปิดที่ 68.44 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งนับเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน และ 4 กรกฎาคมตามลำดับ
โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลงราว 3% และเบรนท์ลดลงราว 1% โดยได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เผยว่ายอดสั่งซื้อสินค้าทุนในเดือนมิถุนายนลดลงเกินคาด สะท้อนการใช้จ่ายในภาคธุรกิจที่ชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาการพบปะระหว่างอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ที่สกอตแลนด์ โดยคาดว่าจะได้กรอบข้อตกลงการค้าภายในสุดสัปดาห์ ซึ่งอาจช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของตลาด
ด้านนโยบายการเงิน ประธานาธิบดีทรัมป์เปิดเผยว่าได้หารือกับเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และเชื่อว่าเฟดอาจมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดต้นทุนการกู้ยืม ซึ่งอาจช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมันในอนาคต
ทั้งนี้ ในฝั่งของอุปทาน สหรัฐฯ เตรียมอนุญาตให้พันธมิตรของบริษัทน้ำมันเวเนซุเอลา PDVSA อาทิ Chevron สามารถดำเนินงานในเวเนซุเอลาได้อย่างจำกัด แม้อยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตร ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลาเพิ่มขึ้นมากกว่า 200,000 บาร์เรลต่อวัน
ขณะเดียวกัน อิหร่านเปิดเผยว่า จะเดินหน้าเจรจาด้านนิวเคลียร์กับชาติตะวันตกต่อ หลังจากมีการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาเมื่อวันศุกร์ ซึ่งนับเป็นการพบกันครั้งแรกนับตั้งแต่เหตุการณ์ความตึงเครียดทางทหารกับอิสราเอลและสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่ผ่านมา
ทั้งเวเนซุเอลาและอิหร่านต่างเป็นสมาชิกของกลุ่มโอเปก (OPEC) ซึ่งหากสามารถบรรลุข้อตกลงใด ๆ ที่นำไปสู่การเพิ่มส่งออก ก็จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่ออุปทานในตลาดน้ำมันโลก
นอกจากนี้ กลุ่มโอเปกและพันธมิตร หรือโอเปกพลัส (OPEC+) เตรียมประชุมคณะกรรมการตรวจสอบร่วม (JMMC) ในวันจันทร์นี้ แม้ JMMC ไม่มีอำนาจตัดสินใจด้านกำลังการผลิตโดยตรง แต่แหล่งข่าวเปิดเผยว่า กลุ่มผู้ผลิตอาจพิจารณาเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด โดยอาศัยความต้องการในช่วงฤดูร้อนเป็นปัจจัยดูดซับน้ำมันส่วนเกิน