“เทคโน เมดิคัล” พร้อมเทรด 31 ส.ค.นี้ เล็งขยายธุรกิจรองรับสังคมผู้สูงวัย

“เทคโน เมดิคัล” หรือ TM ผู้นำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ในการแพทย์ ลั่นรายได้ปีนี้โต 600 ลบ. เล็งขยายธุรกิจรองรับสังคมผู้สูงวัย พร้อมเทรด mai 31 ส.ค.นี้ โดยมี บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด


นายแพทย์ศุกพงษ์ จรรโลงบุตร ประธานบริหาร บริษัท เทคโน เมดิคัล จำกัด (มหาชน) หรือ TM เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าผลประกอบการยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้เติบโตขึ้นเป็น 600 ล้านบาท จากปี 58 ที่มีรายได้ 510 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากสินค้าวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ในกระบวนการทางการแพทย์ในรูปแบบต่างๆ ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นรักษาไว้ในระดับเฉลี่ย 40-50% และอัตรากำไรสุทธิ 5-8% ซึ่งทำให้คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตตามรายได้

รายได้ในไตรมาส 1 เติบโตไปแล้วกว่า 30% ครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีขึ้น ปีนี้โดยรวมก็น่าจะเติบโตในเกณฑ์ค่อนข้างดี”นายแพทย์ศุภพงษ์ กล่าว

อนึ่ง งวด 6 เดือนแรกของปี 59 บริษัทมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 269.95 ล้านบาท กำไรสุทธิ 12.70 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 221.53 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 16.09 ล้านบาท

โดยบริษัทวางเป้าหมายพัฒนาสินค้าไปสู่กลุ่มผู้สูงวัยสอดคล้องสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เล็งประเดิมให้เช่าเตียงผู้ป่วยขยายวงออกจากลูกค้าหลักในกลุ่มโรงพยาบาลไปสู่ตลาดระดับบ้านเรือน พร้อมมองโอกาสสินค้านวัตกรรมทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจหลักในการจัดจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง พร้อมแล้วสำหรับการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 31 ส.ค. ระดมทุนก้อนใหญ่ผ่านการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) เพื่อนำมาใช้ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและมองโอกาสขยายไปสู่ตลาด CLMV

ทั้งนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมแผนธุรกิจเพื่อขยายกลุ่มสินค้ารองรับสังคมผู้สูงวัย ซึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ทั้งสินค้าที่มีความจำเป็น และสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ โดยอาศัยตัวอย่างในต่างประเทศร่วมด้วย เช่น เบื้องต้นมีแนวคิดที่จะนำเตียงผู้ป่วยที่ทำงานด้านไฟฟ้าที่มีราคาสูงมาให้เช่าตามบ้านพักอาศัย หรือการร่วมพัฒนาสินค้าร่วมกับผู้วิจัยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำเสนอสู่ตลาด เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป หรือ อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีสูงในการดูแลผู้สูงวัย

เราอยากจะทำสินค้าผู้สูงวัยแบบครบวงจร เริ่มจากการให้เช่าเตียงผู้ป่วยไฟฟ้าที่คุณภาพดี ซึ่งราคาเป็นแสน จะซื้อมาใช้อาจจะไม่คุ้ม เพราะถ้าหายป่วยก็ไม่รู้จะเอาไปไว้ไหน เราก็ให้เช่าถ้าเลิกใช้ก็ส่งคืนเราก็มาปรับปรุงแล้วให้เช่าต่อ หรืออย่างผ้าอ้อมสำหรับผู้สูงวัยที่จะต้องออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานเป็นการเฉพาะ เป็นสินค้าอีกตัวที่เราสนใจจะผลิตออกมาขาย” นางสุนทรี กล่าว

โดยการขยายธุรกิจดังกล่าวจะเป็นการขยายตลาดจากตลาดหลักเดิมที่บริษัทเน้นขายสินค้าโดยตรงให้กับโรงพยาบาล ซึ่งบริษัทเป็นผู้นำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์แบรนด์ชั้นนำของโลกรวม 26 ราย จาก 12 ประเทศ ให้กับสถานพยาบาลชั้นนำในประเทศ ทั้งโรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน และคลินิก

สำหรับมีรายได้หลักของบริษัทมาจากการจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งสามารถแบ่งผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจัดจำหน่ายออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.อุปกรณ์ทางการแพทย์และวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ในห้องผ่าตัด 2.อุปกรณ์ทางการแพทย์สิ้นเปลืองที่ใช้ในหน่วยจ่ายกลางของโรงพยาบาล 3.อุปกรณ์ทางการแพทย์และวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ และธนาคารเลือด และ 4.อุปกรณ์ และเครื่องมือแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับการผ่าตัดหัวใจ และเครื่องมือผ่าตัดทั่วไป โดยทั้งหมดมีสินค้ามากกว่า 1 หมื่นรายการ

ขณะที่ปัจจุบันบริษัทนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นหลักกว่า 90% ส่วนที่เหลือมีทั้งการจ้างโรงงานในต่างประเทศผลิตสินค้า (OEM) และบางส่วนจ้างผู้ผลิตในประเทศ โดยมีการเช่าคลังสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงขนาดกว่า 2 พัน ตร.ม.ในการเก็บสินค้า และบริการด้วยระบบที่ทันสมัย ขณะที่ลูกค้าหลักคือ โรงพยาบาลภาครัฐกว่า 300 แห่ง โรงพยาบาลเอกชนและคลีนิกกว่า 100 แห่ง นับเป็น 1 ใน 3 ของโรงพยาบาลและคลีนิกทั้งประเทศ

ทั้งนี้บริษัทมีแผนนำเงินที่ระดมทุนจากการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 80 ล้านหุ้น ราคาเสนอขายหุ้นละ 3 บาท รวม 240 ล้านบาท มาใช้ในการขยายธุรกิจและลดภาระต้นทุนทางการเงินภายในปี 60 โดยจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ 174.59 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายการจำหน่ายสินค้าของบริษัท และการเพิ่มการจำหน่ายสินค้าสำหรับการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ตลอดจนการขยายฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศ ทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมทั้งใช้ก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่และโชว์รูมสินค้า 50 ล้านบาท

นอกจากนั้น หลังจากบริษัทมีทุนหมุนเวียนมากขึ้น บริษัทก็มีแผนจะเพิ่มการว่าจ้างผลิตสินค้า (OEM) จากผู้ผลิตในประเทศที่มีศักยภาพ ซึ่งมีหลายรายที่เป็นผู้ผลิตสินค้าคุณภาพส่งออก ซึ่งจะช่วยให้อัตรากำไรของบริษัทดีขึ้นด้วย

Back to top button