โบรกฯชี้ SET สัปดาห์นี้ผันผวน ชู 11 หุ้นเเด็ดราคาลงแรง-การลงทุนใช้จ่ายรัฐหนุน

โบรกฯชี้ SET สัปดาห์นี้ผันผวน ชู 11 หุ้นเเด็ดราคาลงแรง-การลงทุนใช้จ่ายรัฐหนุน


นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) ประเมินตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ (21-25 พ.ย.) ว่า ดัชนีจะผันผวนในกรอบ 1,451-1,510 จุด โดยยังขึ้นกับปัจจัยในต่างประเทศ เชื่อว่านักลงทุนยังไม่มั่นใจว่านโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ จะเป็นลบต่อตลาดหุ้นมากหรือน้อยขนาดไหน ซึ่งจะทำให้การซื้อขายในสัปดาห์นี้จะเต็มไปด้วยความระมัดระวังและอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อความคืบหน้าในเรื่องนี้

นอกจากนี้ การประชุมระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และผู้ผลิตน้ำมันรายอื่น เช่น รัสเซีย ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าหรือสามารถระบุตัวเลขของกำลังการผลิตน้ำมันที่จะลดลงได้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ผ่านช่วงของการรายงานผลประกอบการมาแล้ว ตลาดยังไม่ได้มีอะไรใหม่ ๆ  แรงขายของนักลงทุนต่างประเทศ น่าจะยังมีต่อหลังตลาดมีทั้งความเสี่ยงต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ และความเสี่ยงจากนโยบายการค้าต่างประเทศของสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินดอลลาร์กลับมาเป็น safe haven asset อีกครั้งหนึ่ง และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นตัวเร่งให้มีการขายเร็วขึ้น โดยเมื่อวันศุกร์ ค่าเงินบาทปิดที่ 35.55 บาท/ดอลลาร์  อ่อนค่าลงจากช่วงก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ ประมาณ 1.7% ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อตลาดในสัปดาห์นี้มากที่สุด คือ

1.นโยบายใหม่และการนำมาใช้จริงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าจะสามารถนำมาใช้จริงได้มากเพียงใด โดยเฉพาะนโยบายที่มีผลมาถึงประเทศอื่น ๆ ที่ประเมินในเบื้องต้นคาดจะนำมาใช้เพียงบางส่วนแต่ตลาดตอนนี้รับรู้ว่าจะทำตามนโยบายเกือบทั้งหมด

2.การพบกันระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ กับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อน แสดงให้เห็นว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบมีความตื่นตัวมากเพียงใดต่อนโยบายที่ใช้หาเสียงของประธานาธิบดีคนนี้ ญี่ปุ่นอาจมีผลกระทบมาก ทั้งสัญญาการค้า TPP (Trans-Pacific Partnership) และนโยบายกำลังทหารของสหรัฐฯนอกประเทศ

3.การกล่าวสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ชี้เห็นว่าผลลบหากนำเอานโยบายที่นายทรัมป์ใช้หาเสียงมาปฎิบัติจริง ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับตลาด เพราะพรรครีพับรีกันที่อยู่ในทั้งสองสภาฯ อาจไม่ได้เห็นพ้องกับนายทรัมป์ในทุก ๆ เรื่องไป โดยเฉพาะเรื่องที่อาจเป็นลบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯในอนาคต แต่ปัจจัยตัวนี้จะมีความสำคัญมากที่สุดต่อทิศทางตลาดหุ้นและเศรษฐกิจมากที่สุดในวลานี้

4.หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ หรือ Bond Yield ยังมีการปรับขึ้นต่อเนื่อง จะเป็นลบต่อต้นทุนทางการเงินของประเทศอื่นๆ ที่จะสูงขึ้น และมีความเสี่ยงมากขึ้น รวมทั้ง จะทำให้ประเทศ ที่ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ต้องทยอยลดการใช้ QE เร็วก่อนกำหนด ในประเด็นนี้ อาจทำให้บริษัทที่กำลังจะ re-finance ด้วยหุ้นกู้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นลบ

สำหรับกลยุทธ์ลงทุนในสัปดาห์นี้ จึงยังต้องใช้ความระมัดระวังอยู่ต่อไป แม้ประมาณการว่าตลาดจะรับรู้เรื่องลบไปมากแล้วก็ตาม แต่ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ที่ยังไม่นิ่งและคาดเดายากว่าจะออกไปในทางใด เนื่องจากไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว

แนะนำให้ชะลอการลงทุน โดยเฉพาะหุ้นที่มีความเสี่ยงจากการขายโดยนักลงทุนต่างประเทศ แต่มองว่าด้วยระดับดัชนีตลาดหุ้นไทย ที่มีจุดแข็งตรงที่มีปัจจัยในประเทศหนุนและตลาดหุ้นไทยเองไม่ได้ปรับขึ้นมามากหรือค่า P/E สูงมากนัก (current p/e = 16.2 เท่า ; คำนวณโดย KTBST) แรงขายที่เกิดขึ้น จึงไม่น่าที่จะรุนแรงนัก (ยกเว้นสถานการณ์เลวร้ายกว่าเกินที่คาดไว้)

สำหรับหุ้นที่มีโอกาสฟื้นกลับเร็วหรือหุ้นที่น่าสนใจ จะเป็นหุ้นที่มีธุรกิจในประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ (Domestic Play) หรือและหุ้นกลุ่มที่ราคาปรับตัวลงมามาก ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มที่ถูกมองเป็นลบจากนโยบายของนายทรัมป์เช่น กลุ่มส่งออก หากมีความเป็นไปได้ว่า การค้าระหว่างประเทศจะไม่ถูกกระทบหรือกระทบน้อย จะเป็นกลุ่มที่จะกลับมาบวกได้ เช่นกันหุ้นที่เป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ (Dividend Play) จะถูกลดความน่าสนใจลง เป็นผลจากที่ผลตอบแทนตราสารพันธบัตรที่ต้องการที่จะสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นลบต่อหุ้นเหล่านี้ โดยเฉพาะหุ้นที่มีการจ่ายปันผลไม่สูงนัก

หุ้นแนะนำในสัปดาห์นี้ ได้แก่ หุ้นใหญ่ราคาลงมามาก มีโอกาสดีดกลับ BBL,BDMS,CPN,DELTA,CPF หุ้นรับผลบวกการลงทุน-ใช้จ่ายภาครัฐ CPALL,PYLON,HMPRO หุ้นมี Dividend Yield สูง TMT,KGI และหุ้นที่มีประเด็นบวกอื่นๆ หรือราคาลงมามาก DCC,SCN,GL

Back to top button