“ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์” ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 50 ล้านหุ้น จ่อเทรด mai

“ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์" หรือ LEO ผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ครอบคลุมทั่วโลกและลงทุนในบริษัทอื่น ยื่นไฟลิ่งขาย IPO จำนวน 50 ล้านหุ้น เข้าตลาด mai หวังระดมทุนใช้ขยายธุรกิจ, ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน, ลงทุนบริษัทอื่น โดยมีบล.ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


ตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO ยื่นไฟลิ่งเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 50 ล้านหุ้น โดยจะไม่มีการเสนอขายให้กับผู้จองซื้อรายย่อยหรือประชาชนเป็นการทั่วไป และบริษัทมีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีบล.ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

วัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจของบริษัท และบริษัทย่อย และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทรวมทั้งใช้เป็นงบประมาณเพื่อลงทุนในบริษัทอื่น

อนึ่ง LEO ผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ครอบคลุมทั่วโลก (End –  to – End Global Logistics Services) และลงทุนในบริษัทอื่น โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 บริษัทฯ มีบริษัทย่อย 2 แห่งที่ดำเนินธุรกรรมอยู่ คือ บริษัท วายเจซี ดีโปท์ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ YJCD ดำเนินธุรกิจหลักคือให้บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ระยะสั้นและระยะยาว และซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ และ บริษัท ลีโอ เมียนมาร์ โลจิสติกส์ จำกัด หรือ LML ดำเนินธุรกิจหลักเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ประเทศเมียนมาร์ และมีบริษัทร่วมอีก 2 แห่งคือ บริษัท ซิโนคอร์ เมอร์ชานท์มารีน (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SKRT ดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนสายเดินเรือของซิโนคอร์ (Sinokor) จากประเทศเกาหลีใต้ และ บริษัท อาราเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ARM ดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งพัสดุและเอกสารเร่งด่วนระหว่างประเทศ

โดยโครงการในอนาคต บริษัทและบริษัทย่อยมีแผนขยายธุรกิจทั้งในส่วนธุรกิจปัจจุบันและธุรกิจใหม่ ดังนี้ ธุรกิจ Leo Self-Storage & E-Fulfillment Center ปลายปี 2559 บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินโครงการ Leo Self-Storage (“LSS”) บนถนนพระราม 3 ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่เพื่อให้เช่าพื้นที่จัดเก็บสินค้า โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก คือ ลูกค้ารายย่อย ซึ่งได้แก่ ผู้อยู่อาศัยคอนโดมิ เนียม  หรือผู้ประกอบการ SMEs และ e-commerce ในละแวกใกล้เคียง โครงการนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ได้เล็งเห็นว่า จำนวนประชากรจากชานเมืองหรือต่างจังหวัดย้ายเข้าสู่ตัวเมืองเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่อยู่อาศัยประเภทตึกสูง เช่น คอนโดมิเนียม มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน พื้นที่ในการเก็บของเพื่อใช้อยู่อาศัยหรือดำเนินธุรกิจมีน้อยลง จึงได้เริ่มโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้พื้นที่ของคนเมือง

ในปัจจุบัน บริษัทมีพื้นที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการนี้ 1 แห่ง ตั้งอยู่บนถนนพระราม 3 ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 1,280 ตารางเมตร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีรายได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ซึ่งในช่วงเริ่มต้นนี้ขนาดรายได้จะยังไม่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ภายในปี 2563 บริษัทฯ คาดว่าจะมี LSS ประมาณ 4 แห่ง หรือมีแผนการเปิด 1 แห่ง ใน 1 ปี โดยมีงบประมาณเงินลงทุน 17-20 ล้านบาท ต่อแห่ง ซึ่ง LSS แห่งใหม่

2.ขยายพื้นที่บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ บริษัทฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการขยายฐานลูกค้าสายเรือสำหรับการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์จึงกำหนดแผนขยายพื้นที่รับฝากเพื่อรองรับจำนวนตู้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทย่อยคือ YJCD มีธุรกิจให้พื้นที่บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ระยะสั้นและระยะยาว และซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 17,000 ตารางเมตร หรือเทียบเท่ากับความสามารถรองรับตู้ได้ประมาณ 3,500 ตู้ โดยปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างพิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อขยายลานรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2560 จนถึงต้นปี 2561 เพื่อให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มเติมอีกประมาณ 8,000 ตู้ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 15-20 ล้านบาท

3.พัฒนาระบบขนส่งผ่านแดนไปยังประเทศเมียนมาร์ จากการที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งผ่านแดนไปยังประเทศเมียนมาร์ยังอาจมีข้อจำกัดด้านมาตรฐานการขนส่งสินค้า (รายละเอียดตามหัวข้อที่ 2.2.2 (5) การให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ประเทศเมียนมาร์) บริษัท ลีโอ เมียนมาร์ โลจิสติกส์ จำกัด (“LML”) จึงมีแผนที่จะพัฒนาระบบขนส่งให้ได้มาตรฐานสากลและเพิ่มความปลอดภัยของสินค้าให้มากขึ้น นอกเหนือจากระบบ Electronic Seal หรือ eSeal ที่ทางบริษัทย่อย LML ได้นำมาให้บริการในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังมีแผนลงทุนในอุปกรณ์ที่ช่วยส่งเสริมการขนย้ายสินค้าข้ามแดนโดยรถบรรทุกและรถหัวลาก เช่น อุปกรณ์ยกขนสินค้าหนัก (Heavy Cargo Handling) โมบายเครน (Mobile crane) และรถ Self-Propelled Modular Transporter (SPMT) เป็นต้น โดยบริษัทฯ คาดว่าจะดำเนินการพัฒนาระบบข้างต้นในปี 2560-2561 ใช้เงินลงทุนประมาณ 30-50 ล้านบาท

4.ศึกษาเพื่อร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศ ASEAN นอกเหนือไปจากการขยายธุรกิจข้างต้นแล้ว บริษัทฯ มีเป้าหมายในช่วงปลายปี 2560-2563 ที่จะเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศ ASEAN ทั้งในรูปแบบของการเข้าซื้อกิจการ และ/หรือ การร่วมลงทุน เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจและเป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกิจการตลอดจนสร้างโอกาสในการสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัทในอนาคต

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทจะทำการศึกษาโอกาสที่จะเข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งมีธุรกิจที่สามารถต่อยอด (Synergy) กับธุรกิจหลักปัจจุบันของบริษัทฯ  เช่น การเข้าลงทุนร่วมกับบริษัทอื่นในประเทศในการสร้างธุรกิจใหม่ ที่เกี่ยวกับธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ และให้มีการบริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และ/หรือ การขยายการให้บริการในต่างประเทศผ่านการลงทุนร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นโดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม AEC โดยลักษณะการดำเนินธุรกิจจะคล้ายคลึงกับบริษัท ลีโอ เมียนมาร์ โลจิสติกส์ จำกัด เป็นต้น

ทั้งนี้บริษัทมีทุนจดทะเบียน ณ วันที่ 31 มี.ค.60 จำนวน 100,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 200,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้วจำนวน 75,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 150,000,000 หุ้น และภายหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนในครั้งนี้จำนวน 50,000,000 หุ้น โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.00 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด บริษัทฯ จะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วรวม 100,000,000 บาท คิดเป็นจำนวนหุ้นสามัญทั้งสิ้น 200,000,000 หุ้น

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯในปี 2559 มีสินทรัพย์รวม 418.21 ล้านบาท หนี้สินรวม 275.24 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 142.98 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 1,062.40 ล้านบาท กำไรสุทธิ 31.12 ล้านบาท

ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท 3 อันดับแรก  ณ วันที่ 31 ธ.ค.2559 คือ นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ถือหุ้น 54,356,400 หุ้น คิดเป้น 36.24% หลังเสนอขาย IPO แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 27.18%, นายสมศักดิ์ ศรีสุทัศน์กุล ถือหุ้น 22,014,000 หุ้น คิดเป้น 14.68% หลังเสนอขาย IPO แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 11.01% และบริษัท ที เอส ซี โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 20,724,000 หุ้น คิดเป้น 13.81% หลังเสนอขาย IPO แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 10.36%

อนึ่ง บริษัทและบริษัทย่อยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40.00 ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินสำรองต่างๆ ทั้งหมดแล้ว ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทและบริษัทย่อย

Back to top button