กบง.เคาะลอยตัว LPG ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มีผล 1 ส.ค.นี้

กบง.เคาะลอยตัวราคา LPG ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย สะท้อนต้นทุนตลาดโลก เริ่ม 1 ส.ค.นี้ ทั้งนี้ยังคงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือน ก.ค. 60 ไว้ที่ 20.49 บาท/กก.


นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่า กบง. เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจี (LPG)

โดยทั้งระบบมีผลตั้งแต่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไปเพื่อรองรับอนาคตที่ไทยจะต้องนำเข้าก๊าซมากขึ้นจากข้อจำกัดแหล่งการผลิตในประเทศที่แนวโน้มจะลดลง อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวรัฐยังคงดูแลใช้แอลพีจีกลุ่มผู้มีรายได้น้อยคงเดิม

ทั้งนี้ กบง.มีมติให้ยกเลิกการกำหนดแอลพีจีหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติก ยกเลิกการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG พร้อมยกเลิกการกำหนดอัตราเงินส่งเข้าหรือชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากทุกส่วนของการผลิต ยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ เพื่อให้ตลาดก๊าซ LPG มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์

ขณะที่ยังคงให้ สนพ. ติดตามและประกาศเฉพาะราคาอ้างอิงเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศ รวมทั้งให้ สนพ. มีกลไกการติดตามสถานการณ์ราคานำเข้าก๊าซ LPG และต้นทุนโรงแยกก๊าซอย่างใกล้ชิดเป็นรายเดือน ซึ่งหากราคาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

“เดือนส.ค.ก็คิดว่ากองทุนฯคงไม่มีการอุดหนุนเลยจากที่ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 12 สต. ต่อกก. เท่ากับลอยตัวราคาโดยไม่มีการอุดหนุนใดๆ และเชื่อว่าราคาขายปลีกเองก็จะไม่ลอยตัวขึ้นแน่นอนแต่จะลงหรือไม่ต้องอยู่ที่ตลาดโลกเชื่อว่าจะลอยลงมากกว่า และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนบัญชีแอลพีจีนั้นที่มีอยู่กว่า 6,000 ล้านบาทก็ยังจะทำหน้าที่ดูแลราคาขายปลีกแอลพีจีในช่วงเฉพาะกรณีที่วิกฤตราคาจนกระทบเศรษฐกิจเท่านั้นก็เหมือนกับน้ำมันในขณะนี้” นายอารีพงศ์กล่าว

 

ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงานและในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า การลอยตัวราคาแอลพีจีครั้งนี้ นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของไทยที่ดำเนินนโยบายเปิดเสรีนำไปสู่การลอยตัวราคาสะท้อนต้นทุนตลาดโลกแท้จริงทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) และล่าสุดคือแอลพีจี โดยจากนี้ไปกบง.จะทำหน้าเพียงการประชุมเพื่อรับทราบราคาอ้างอิงราคาขายปลีกแอลพีจีในทุกเดือนเท่านั้นจากเดิมที่เคยเป็นผู้กำหนดราคาขายปลีกทุกเดือน

“สนพ.จะกำหนดราคาอ้างอิงเพื่อให้ผู้ค้ากำหนดราคาขายปลีกที่ต้องสอดรับซึ่งเชื่อว่าการลอยตัวครั้งนี้น่าจะเป็นจังหวะที่ดีสุดเพราะราคาแอลพีจีตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลงซึ่งราคา CP ซาอุดิอาระเบียที่อ้างอิงเป็นรายเดือนนั้นจะมีทิศทางลดลงไปจนถึงก.ย.และแนวโน้มตลาดโลกเองเชื่อว่าจะมีการแข่งขันมากเพราะจะมีส่วนเกินจากการผลิต ขณะที่ตลาดในประเทศเราเชื่อว่าจะมีการแข่งขันมากขึ้นโดยระดับค้าส่งเริ่มแล้วและระดับค้าปลีกในส่วนของขนส่งแข่งขันมาก ส่วนครัวเรือนแม้ขณะนี้จะมีเพียง 3 กลุ่มหลักคือปตท. สยามแก๊ส และเวิรล์คแก๊ส” นายทวารัฐกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ยังมีมติให้เตรียมนำเสนอ กพช. เพื่อ พิจารณา ให้ ปตท. ดำเนินธุรกิจโครงการ LPG Integrated Facility Enhancement (โครงการ LIFE) ในเชิงพาณิชย์ โดยให้ผู้ค้าก๊าซ LPG รายอื่นสามารถเข้าใช้บริการคลังก๊าซ LIFE ที่เขาบ่อยา จังหวัดชลบุรี ของ ปตท. ได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม จนกว่าผู้ค้าก๊าซ LPG รายอื่นจะสามารถสร้างหรือขยายคลังก๊าซ LPG นำเข้าแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ให้ ปตท. เปิดเผยข้อกำหนด/กติกาการใช้คลังก๊าซฯ ดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบด้วย และเพื่อส่งเสริมให้มีการจำหน่ายก๊าซ LPG ภายในประเทศเป็นหลัก

ดังนั้น ปริมาณก๊าซ LPG ที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซจะต้องให้ความสำคัญกับการจำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงก่อนเป็นลำดับแรก มิใช่เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และสำหรับการส่งออกก๊าซ LPG จะต้องขออนุญาตจากกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) โดยจะมีการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราคงที่ (Fixed Rate) ที่ 20 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ยกเว้นกรณีที่ก๊าซ LPG นำเข้า เพื่อเป็นการส่งออก (Re-export) เท่านั้น

ขณะเดียวกันกบง.ยังคงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนกรกฎาคม 2560 ไว้ที่ 20.49 บาท/กก. โดยปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลง 1.4262 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 1.5469 บาท/กก. เป็นชดเชย 0.1207 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป

Back to top button