สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวันศุกร์

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 22 ม.ค. 61


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (19 ม.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P และ Nasdaq ปิดทำนิวไฮ โดยภาวะการซื้อขายได้ปัจจัยหนุนจากมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ส่วนความเป็นไปได้ที่สภาคองเกรสสหรัฐอาจไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวได้ทันเส้นตายในวันศุกร์ ซึ่งจะส่งผลให้มีการปิดหน่วยงานของรัฐบาล หรือ ชัตดาวน์นั้น ไม่ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนเท่าไรนัก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,071.72 จุด เพิ่มขึ้น 53.91 จุด หรือ 0.21% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,810.30 จุด เพิ่มขึ้น 12.27 จุด หรือ 0.44% และดัชนี Nasdaq ปิดที่7,336.38 จุด เพิ่มขึ้น 40.33 จุด หรือ 0.55%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (19 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่หน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐจะเผชิญกับการชัตดาวน์นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวขึ้น 2.15 จุด หรือ 0.54% ปิดที่ 400.88 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดในรอบสองปีครึ่ง และตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีปรับตัวขึ้น 0.6% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สาม

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,434.45 จุด เพิ่มขึ้น 153.02 จุด หรือ 1.15% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,526.51 จุด เพิ่มขึ้น 31.68 จุด หรือ 0.58% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,730.79 จุด เพิ่มขึ้น 29.83 จุด หรือ 0.39%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนดีดตัวขึ้นปิดแดนบวกเป็นวันแรกในรอบห้าวันทำการเมื่อวันศุกร์ (19 ม.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงหลังสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเผยยอดค้าปลีกเดือนธ.ค.ร่วงลงเกินคาด ขณะที่หุ้นอีซี่เจ็ต สายการบินต้นทุนต่ำ พุ่งทะยานขึ้นมากที่สุดในรอบสองเดือน หลังได้รับการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุน

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,730.79 จุด ปรับตัวขึ้น 29.83 จุด หรือ 0.39%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อวันศุกร์ (18 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐ หลังจากที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่า การผลิตน้ำมันของสหรัฐจะพุ่งสูงขึ้นในปีนี้ พร้อมกับเตือนว่าการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการปรับสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาด

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 58 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 63.37 ดอลลาร์/บาร์เรล และลดลงประมาณ 1.5% ตลอดสัปดาห์

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 70 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 68.61 ดอลลาร์/บาร์เรล และลดลงประมาณ 1.8% ตลอดสัปดาห์

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (19 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย จากความวิตกที่ว่า สหรัฐอาจเผชิญกับการปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) หากวุฒิสภาสหรัฐไม่อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวทันเส้นตายเที่ยงคืนวันศุกร์ตามเวลาสหรัฐ หรือเที่ยงวันเสาร์ตามเวลาไทย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ปรับตัวขึ้น 5.90 ดอลลาร์ หรือ 0.44% ปิดที่ 1,333.10 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่ตลอดทั้งสัปดาห์ ราคาทองปรับตัวลงประมาณ 0.1%

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ปรับตัวขึ้น 8.2 เซนต์ หรือ 0.48% ปิดที่ 17.036 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ปรับตัวขึ้น 12.9 ดอลลาร์ หรือ 1.28% ปิดที่ 1,020.10 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ปรับตัวขึ้น 5.1 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,098.40 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (19 ม.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลว่าสภาคองเกรสสหรัฐอาจไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวได้ทันเส้นตาย ซึ่งจะส่งผลให้มีการปิดหน่วยงานของรัฐบาล หรือ ชัตดาวน์ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 110.62 จากระดับ 110.99 เยน แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9618 ฟรังก์ จากระดับ 0.9585 ฟรังก์ และปรับตัวขึ้นแตะ 1.2482 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.2431 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.2235 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2243 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.3875 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3893 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.8002 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7999 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button