
จับตาราคาหุ้นPTTEPหลังอินโดฯถอนฟ้องคดี”มอนทารา” ปลดล็อคความกังวลชดใช้ค่าเสียหาย6หมื่นล้าน
จับตาราคาหุ้น PTTEP หลังอินโดฯถอนฟ้องคดี "มอนทารา" ปลดล็อคความกังวลชดใช้ค่าเสียหาย 6 หมื่นล้าน ผบห.เปิดใจพร้อมให้รายใหม่เข้าซื้อโครงการมอนทาราต่อ
นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า ตามที่ PTTEPได้รายงานเรื่องการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย จากเหตุการณ์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรั่วไหล เป็นจำนวนเงินประมาณ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 นั้น
โดยล่าสุดทางบริษัทขอแจ้งว่า ขณะนี้ศาลแขวงกลางแห่งกรุงจาการ์ตาได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสาระบบความเนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียได้ขอถอนฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าจะแก้ไขคำฟ้อง ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าที่สำคัญทาง PTTEP จะรายงานให้ทราบต่อไป
ด้าน นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ตามที่ PTTได้รายงานเรื่องข่าวกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซียฟ้อง PTTEPและบริษัท PTTEPAustralasia (Ashmore Cartier) Pty Ltd ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของปตท.ในคดีต่อศาลในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในแหล่งมอนทารา ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560
ทั้งนี้ ทางปตท. ขอแจ้งว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซียได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องต่อศาล และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องโดยให้เหตุผลว่าจะแก้ไขคำฟ้อง และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว และหากมีความคืบหน้าที่สำคัญทางบริษัทจะรายงานให้ทราบต่อไป
ขณะที่การสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางอินโดนีเซียได้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรั่วไหลของแหล่งมอนทาราเป็นจำนวนเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ PTTEP กล่าวยืนยันว่า แม้จะมีการฟ้องร้องค่าเสียหายแต่ทางบริษัทจะไม่มีการตั้งสำรองเผื่อค่าเสียหาย
โดยเชื่อมั่นว่าคราบน้ำมันที่เกิดจากเหตุการณ์มอนทาราไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และไม่ได้แพร่เข้าสู่ชายฝั่งของประเทศอินโดนีเซียหรือออสเตรเลีย ซึ่งมีหลักฐานจากผลการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งควบคุมโดยหน่วยงานรัฐบาลของประเทศออสเตรเลีย
อีกทั้งในเบื้องต้นภายใต้ความเห็นของที่ปรึกษาทางกฎหมาย ทางอินโดนีเซียเองจะไม่สามารถดำเนินการยึดทรัพย์ของ PTTEP ได้ เพราะเป็นการฟ้องร้องในศาลอินโดนีเซีย ซึ่งไทยและอินโดนีเซียไม่มีสนธิสัญญาการยอมรับคำพิพากษาระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ PTTEP และรัฐบาลอินโดนีเซีย ได้มีความพยายามที่จะพูดคุยเพื่อหาข้อตกลงระหว่างกัน แต่ข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุความร่วมมือได้ ทำให้บริษัทยังไม่ได้มีการชดใช้ความเสียหายให้กับทางอินโดนีเซีย และนำมาสู่การฟ้องร้องเรียกร้องค่าเสียหาย
ด้าน นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP เปิดเผยว่า ขณะนี้แหล่งน้ำมันดิบมอนทาราที่ออสเตรเลียในปัจจุบันกำลังการผลิตเริ่มลดลง และปีนี้คาดจะมีการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1 หมื่นบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ทางบริษัทยังคงเปิดโอกาสในการมองหาผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาซื้อโครงการ เพราะยังเชื่อว่า คนในพื้นที่น่าจะสามารถพัฒนาแหล่งน้ำมันนี้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าได้
นอกจากนี้ ทางบริษัทได้อยู่ในระหว่างศึกษาธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก คือ การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) เพื่อเพิ่มโอกาสเติบโตทางธุรกิจและรองรับเทคโนโลยีพลังงานที่เปลี่ยนไป โดยบริษัทได้ศึกษาทั้งธุรกิจต่อเนื่องด้านการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบธุรกิจปิโตรเลียม, การผลิตไฟฟ้าในเมียนมา รวมถึงห่วงโซ่ธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ทั้งแบตเตอรี่ และโซลาร์ จากปัจจุบันที่มีการต่อยอดไปในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนอย่างน้อย 1 ธุรกิจในปี 2561 อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจ E&P ยังคงเป็นสายธุรกิจหลักของ PTTEP ต่อไป
สำหรับธุรกิจไฟฟ้า บริษัทไม่ได้มองการลงทุนในไทย เพราะยังมีการแข่งขันที่รุนแรง แต่มองเห็นโอกาสการต่อยอดธุรกิจจากแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อมุ่งสู่ธุรกิจไฟฟ้าในเมียนมาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น เบื้องต้นมองโอกาสในพื้นที่ปิโตรเลียม M3 ซึ่งเป็นแหล่งในทะเลที่ยังสำรวจพบปิโตรเลียมในปริมาณไม่มากนัก
ดังนั้น จึงได้แจ้งความประสงค์กับรัฐบาลเมียนมา เพื่อจะสำรวจเพิ่มเติมนำก๊าซฯมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยจะร่วมกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มปตท. เช่นกัน ซึ่งจะเสนอแพ็กเกจโครงการต่อรัฐบาลเมียนมา และน่าจะได้เห็นความชัดเจนภายในครึ่งแรกปี 2561
ทั้งนี้ “ผู้สื่อข่าว” มองว่า ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลดีต่อราคาหุ้นของ PTTEP เนื่องจากก่อนหน้านี้นักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าเสียหายที่ถูกฟ้อง 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งทางบริษัทฯไม่ได้ทำการตั้งสำรองหนี้เอาไว้ การถอนฟ้องของรัฐบาลอินโดนีเซียในครั้งนี้ จึงถือเป็นการปลดล็อคความกังวลทั้งหมดออกไป จึงเป็นที่น่าจับตาว่าราคาหุ้น PTTEP ในวันนี้จะปรับตัวขึ้นรับประเด็นดังกล่าวหรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง