5 โบรกฯเคาะ 13 หุ้นเด็ด! รับเงินบาทอ่อน-ส่งออก Q1 โตทะลักในรอบ 7 ปี

5 โบรกฯเคาะ 13 หุ้นเด็ด! รับเงินบาทอ่อน-ส่งออก Q1 โตทะลักในรอบ 7 ปี นำโดยCPF,TU,TFG,GFPT, BR,XO,HANA,SVI,KCE,DELTA, AH,SAT


ช่วงนี้ SET เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1786-1801 จุด และมีปัจจัยเข้ามาน่าติดตามต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม2561 ที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 61 เติบโตที่ 11.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นการขยายตัวรายไตรมาสที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปี ขณะเดียวกันค่าเงินบาทช่วงนี้อ่อนค่าค่อนข้างมาก ทั้งนี้เงินบาทเคยไปแตะที่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์ มาแล้วในช่วงต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

จากปัจจัยดังกล่าว“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”จึงทำการรวบรวมข้อมูลหุ้นที่ได้รับผลดีดังกล่าวมานำเสนอโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรและอาหาร,กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มยานยนต์ น่าจะได้รับผลดีมากสุด อาทิ  CPF,TU,TFG,GFPT,BR,XO,HANA,SVI,KCE,DELTA, AH,SAT

โดยกระทรวงพาณิชย์ได้รายงานมูลค่าการส่งออกไทยเดือน มี.ค.61 ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 7.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน นำโดยการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป รวมถึงเคมีภัณฑ์และพลาสติก ที่เติบโต 49.0%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 15.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงเติบโตสอดคล้องกับภาคการผลิตของโลก เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ รวมถึงแผงวงจรไฟฟ้า ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 23.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 19.0%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวสูงถึง 9.7%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกยางพาราและน้ำตาลที่หดตัวลง 50.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 4.1%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ อันเนื่องมาจากราคายางพาราและน้ำตาลในตลาดโลกที่ตกต่ำ

ด้านตลาดการส่งออกเติบโตดีในเกือบทุกตลาดส่งออกสำคัญ ยกเว้นการส่งออกไปยังจีนที่หดตัว 8.7%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่ลดลงตามราคายางพาราในตลาดโลก

ทั้งนี้การส่งออกในไตรมาสแรกของปี 61 เติบโตที่ 11.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นการขยายตัวรายไตรมาสที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปี

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มเห็นค่าเงินกลับมาผันผวนอีกครั้ง โดยดอลลาร์แกว่งตัวขึ้นมาแตะ 90.31 จุด หลังจากที่อ่อนค่ากว่า  13% นับจากปลายปี 2560  (สูงสุดที่ 130.2) หรือกว่า 1 ปี ตรงข้ามค่าเงินเอเชียที่เริ่มกลับมาอ่อนค่า คือเงินบาทขึ้นแตะ 31.369 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากเงินบาทแข็งค่าว่า 13.8% นับจากปลายปี 2559 หรือกว่า 2 ปี (อยู่ที่ 36.4 บาท เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2558) และ ริงกิต แข็งค่าราว 13.3% นับจากต้นปี 2560 หรือกว่า 1 ปี  ยกเว้น เงินรูเปียร์ของอินโดนีเซีย   และ เงินเปโซ ของฟิลิปปินส์   อ่อนค่าอยู่แล้ว

สถานการณ์นี้น่าจะดีต่อหุ้นส่งออก ในกลุ่มเกษตรและอาหาร รวมถึง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มจากกลุ่มเกษตรพบว่า ราคาสุกรหน้าฟาร์มและราคาไก่เป็น ได้ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด ไตรมาส1/61 และทรงตัว ระดับ 62 บาท/ก.ก. และ 34 บาท/ก.ก. และยังคาดว่าจะจะขยับขึ้นในช่วง2Q61-3Q61 ที่เป็น High Season และ ซึ่งน่าจะดีต่อผู้ที่มีรายได้จากธุรกิจสุกรในประเทศ ได้แก่ TFG (21% ของรายได้รวม) และ CPF (14% ของรายได้รวม) สำหรับธุรกิจไก่ เป็นผลดีต่อ GFPT,  TFG และ CPF ที่มีโครงสร้างรายได้จากธุรกิจไก่ในไทย 80%, 70% และ 10% ตามลำดับ

ขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ คือ กากถั่วเหลือง และ ข้าวโพด พบว่าราคาตลาดโลกยังปรับตัวลงตั้งแต่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา  เนื่องจากราคาปัจจุบันของทั้งกากถั่วเหลืองและข้าวโพดยังอยู่ในระดับสูงกว่าปี 2560 ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้ราคานำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์แพงขึ้น  (CPF และ GFPT มีสถานะเป็น Net Export จึงทำให้ได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท ยกเว้น TFG ที่มีสถานะเป็น Net Import จึงกระทบเชิงลบจากการอ่อนค่าของเงินบาท)

ยังชอบ CPF (FV@B30) และ TFG (FV@B6) ที่ทำธุรกิจครบวงจร ได้ประโยชน์จากราคาสุกรที่ฟื้นตัว และตลาดส่งออกไก่ดีขึ้น นอกจากนี้ แนะนำซื้อ GFPT (FV@B17) จากธุรกิจไก่จะฟื้นตัวตั้งแต่งวด 2Q61 จากแนวโน้มตลาดส่งออกไก่ที่ดีขึ้น   

ส่วนราคาปลาทูน่าเริ่มขยับขึ้น โดยล่าสุดราคาเฉลี่ยเดือน มี.ค. 61 ล่าสุดอยู่ที่ 1.7 พันดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เพิ่มขึ้น 14.9% mom ยังสอดคล้องกับมุมมองของฝ่ายวิจัยที่ประเมินว่าราคาวัตถุดิบทูน่าเฉลี่ยปี 2561 จะอยู่ที่ราว 1.75 พันดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ขณะที่ราคาวัตถุดิบทูน่าเฉลี่ยงวด ไตรมาส1/61 ที่อ่อนตัวลง 22.5% qoq และ 3.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 1.58 พันดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ส่งผลบวกต่อผลประกอบการของ TU ให้ฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ 2Q61

นอกจากนี้จะดีต่อหุ้นชิ้นส่วน ฯ โดยเฉพาะ  HANA(FV@B46)  เนื่องจากรายได้อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ 100% ขณะที่ต้นทุนรูปดอลลาร์สหรัฐ 60% เทียบกับ  SVI ซึ่งมีรายได้อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ70% และต้นทุนดอลลาร์สหรัฐ 50%   KCE รายได้อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ 70% ขณะที่ต้นทุนดอลลาร์สหรัฐ 35% และ  DELTA ซึ่งมีรายได้อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ 72% และต้นทุนดอลลาร์สหรัฐ 50%    จึงเลือก HANA  เป็น Top pick

บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มองปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้โฟกัสการลงทุนของตลาดในระยะสั้นกลับมายังกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าอย่างเช่นกลุ่มส่งออกได้ ซึ่งเมื่อวานนี้มีหนึ่งปัจจัยบวกที่สำคัญได้แก่ รายงานตัวเลขการส่งออกประจำเดือนมีนาคมที่ออกมาแข็งแกร่งที่ 7% สูงกว่าที่ตลาดคาด

โดยหากดูในรายละเอียดจะพบว่าเป็นการเติบโตในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่หมวดเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่โตได้ถึง 18% โดยเป็นการเติบโตของแผงวงจรไฟฟ้า (+19%) และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (+28%) เป็นสำคัญ มองเป็น Sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (KCE, HANA, DELTA) ซึ่งนักลงทุนระยะสั้นประเภทเก็งกำไรสามารถ “ซื้อเก็งกำไร” ในช่วง 1 เดือนข้างหน้าได้

บล.เอเอสแอล ระบุในบทวิเคราะห์ว่า Baht Depreciates – กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท TU* (TP 21.94 บาท) CFRESH* (TP 5.7 บาท) CPF* (TP 28.11 บาท) GFPT* (TP 15.26 บาท) BR* (TP 9.5 บาท) DELTA* (TP 78.02 บาท) HANA* (TP 41.89 บาท) KCE* (TP 78.88 บาท) SVI* (TP 4.61 บาท)

บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ HANA DELTA KCE และกลุ่นสินค้าส่งออก GFPT TU XO TFG BR เงินบาทอ่อนค่าสู่ 31.51 บาท/USD

บล.เคจีไอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้นกลุ่มส่งออก (อิเล็กทรอนิกส์ HANA, DELTA / ยานยนต์ AH, SAT) ผลจากแนวโน้มตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น) ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้อาจจะมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น (ค่าเงินบาทอ่อน) ประเมินหุ้นกลุ่มส่งออกจะได้รับอานิสงส์ทั้งปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/61 และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงขณะนี้ นักลงทุนอาจพิจารณา “เก็งกำไร” หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (HANA*, DELTA) และกลุ่มยานยนต์ (AH, SAT)  

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกไทยปี 2561 อยู่ที่ 7.5% จากเดิมที่ 5% เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ดีในปีนี้ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยกองทุนเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตปริมาณนำเข้าสินค้าทั่วโลกในปีนี้ อยู่ที่ 5.7%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวราว 4.3%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยดังกล่าวจะสนับสนุนให้ความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

อีกทั้งไทยยังได้ต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP กับสหรัฐฯ ต่อเนื่องในปี 2018-2020 ซึ่งช่วยคลายความกังวลต่อผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทย ในขณะที่ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีต่อไทยยังค่อนข้างจำกัด แต่ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อไป

นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันอาจได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยอีไอซีได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี 2561 อยู่ที่ 68 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 26%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล)

อย่างไรก็ดี เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ค้าสำคัญ และราคาสินค้าเกษตรบางประเภท เช่น ยางพารา และน้ำตาลที่ยังตกต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกที่ดีขึ้นอาจสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2561 เติบโตได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 4.0%

พร้อมกันนี้ อีไอซีปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่าการนำเข้าปี 2561 อยู่ที่ 12.2% จากเดิมที่ 9.2% โดยเติบโตตามความต้องการสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

Back to top button