สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศประจำวันที่ 14 มิ.ย. 2561


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (14 มิ.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน อย่างไรก็ตาม ดัชนี S&P 500 ดีดตัวขึ้นปิดในแดนบวก ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดทำนิวไฮ โดยได้ปัจจัยหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ และการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงปีหน้า

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,175.31 จุด ลดลง 25.89 จุด หรือ -0.10% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,782.49 จุด เพิ่มขึ้น 6.86 จุด หรือ +0.25% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,761.04 จุด เพิ่มขึ้น 65.34 จุด หรือ +0.85%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (14 มิ.ย.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินยูโร หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวานนี้ พร้อมประกาศว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนถึงช่วงฤดูร้อนของปีหน้า

ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 1.2% ปิดที่ 393.04 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,528.46 จุด เพิ่มขึ้น 75.73 จุด หรือ +1.39% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,107.10 จุด เพิ่มขึ้น 216.52 จุด หรือ +1.68% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,765.79 จุด เพิ่มขึ้น 62.08 จุด หรือ +0.81%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (14 มิ.ย.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นลอนดอนยังได้ปัจจัยบวกจากรายงานยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่งของอังกฤษ

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,765.79 จุด เพิ่มขึ้น 62.08 จุด หรือ +0.81%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (14 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงขานรับสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ปรับตัวลงมากกว่าคาดการณ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปก ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 25 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 66.89 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.ปีนี้

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 80 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 75.94 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (14 มิ.ย.) เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สัญญาทองคำขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากบรรยากาศการซื้อขายในตลาดได้รับแรงกดดันหลังจากที่ประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 7 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,308.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 27.1 เซนต์ หรือ 1.59% ปิดที่ 17.262 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 8.4 ดอลลาร์ หรือ 0.93% ปิดที่ 910.9 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ขยับลง 60 เซนต์ หรือเกือบ 0.1% ปิดที่ 1,006.60 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 มิ.ย.) หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศแผนยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในสิ้นปีนี้ พร้อมส่งสัญญาณว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนถึงช่วงฤดูร้อนของปีหน้า ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีกที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนพ.ค.

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1593 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1773 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3282 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3358 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7485 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ  0.7550 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.58 เยน จากระดับ 110.52 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ  0.9964 ฟรังก์ จากระดับ 0.9859 ฟรังก์

Back to top button