
KKPS มอง GDP ไทยปีนี้โต 1.6% หลังเศรษฐกิจเปราะบาง-รายได้รัฐต่ำเป้า
KKPS ชี้เศรษฐกิจไทยยังเปราะบางกว่าคาด หลังรายได้รัฐพลาดเป้าจากภาษีรถยนต์ นิติบุคคล โดยหั่นคาดการณ์ GDP ปี 68 โตเพียง 1.6% ขณะเดียวกันรัฐใช้เพดานกู้เหลือ 5,000 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณของไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน (ไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 2568) อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำยังสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ขณะที่ การเบิกจ่ายงบลงทุนอยู่ที่ 37.7% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเดิมที่ 43.6% อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ คาดว่าการโอนงบประมาณผ่าน โครงการ Digital Wallet จะช่วยเร่งการเบิกจ่ายงบลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณได้อีก รวมคาดว่าเม็ดเงินลงทุนจะพุ่งแตะ 6.14 แสนล้านบาท ภายในสิ้นปีงบประมาณ เพิ่มขึ้น 38.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือคิดเป็นอัตราเบิกจ่ายงบลงทุนรวมทั้งปีที่ 63.4%
ส่วนอัตราการเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน มีอัตราสูงถึง 83.9% เหนือกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 79.4% โดยเบิกจ่ายไปแล้ว 2.33 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์คาดว่า การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำจะลดลงในไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากรัฐมีการเบิกจ่ายล่วงหน้าไปก่อนแล้ว โดยคาดว่ายอดการเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ 2.83 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณรวมทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 3.44 ล้านล้านบาท โตขึ้น 5.3% จากปีก่อน
ขณะที่ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ถึงพฤษภาคม 2568 รัฐบาลจัดเก็บรายได้รวม 1.704 ล้านล้านบาท โตขึ้น 1.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าประมาณการของกระทรวงการคลังถึง 1.28 หมื่นล้านบาท
ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอาจทำให้แนวโน้มรายได้ของรัฐยิ่งหดตัวต่ำกว่าเป้าในระยะต่อไป โดยสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ลดลงและการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ล่าช้า (เนื่องจากขยายเวลายื่น e-filing ไปถึงต้นเดือนมิถุนายน)
ส่วนช่องว่างรายได้ดังกล่าว สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง โดยประมาณการรายได้ของรัฐก่อนหน้านี้อิงตามสมมติฐานการเติบโตของ GDP ที่เป็นตัวเงินราว 5% แต่ปัจจุบัน KKPS คาดการณ์การเติบโตในปีนี้เพียง 2.1% (แบ่งเป็น real GDP 1.6% และเงินเฟ้อ 0.5%)
ด้านความเสี่ยงที่รัฐบาลจะถึงขีดจำกัดการกู้ยืมเพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับการขาดดุลงบประมาณราว 8.7 แสนล้านบาทสำหรับปีงบประมาณ 2568 เพิ่มสูงขึ้น (คำนวณจาก 80% ของงบประมาณการชำระคืนเงินต้น บวก 20% ของรายจ่ายทั้งหมด)
ปัจจุบัน รัฐเหลือเพดานให้กู้ยืมได้อีกเพียง 5,000 ล้านบาท เท่านั้น โดยอาจจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการชะลอการใช้จ่ายบางส่วน หรือมองหามาตรการหารายได้เพิ่ม เช่น เก็บภาษีสูงขึ้น หรือเรียกเงินสนับสนุนจากรัฐวิสาหกิจมากขึ้น ขณะที่ อัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP (debt-to-GDP) ณ เดือนพฤษภาคม 2568 อยู่ที่ 65% แม้ยังห่างจากเพดาน 70% ที่กฎหมายกำหนด แต่ด้วยรายได้ที่ต่ำกว่าเป้า และแนวโน้มเศรษฐกิจโตช้ากว่าคาด อัตราส่วนดังกล่าวอาจขยับขึ้นเร็ว และสูงกว่าที่ทางการประเมินไว้ก่อนหน้านี้ แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่แนวโน้มที่ไม่สู้ดีนักอาจเป็นที่จับตามองของนักลงทุน และสถาบันจัดอันดับเครดิต