“กสทช.”ส่งมอบ900-1800MHz หนุนสต๊อกคลื่นDTACแตะ110MHz อัดงบขยายเสาฯ1.8หมื่นลบ./ปี

"กสทช."ส่งมอบ900-1800MHz หนุนสต๊อกคลื่น DTAC แตะ110MHz อัดงบขยายเสาฯ1.8หมื่นลบ./ปี


นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในการขยายโครงข่ายอย่างน้อย 18,000 ล้านบาทต่อปี จากปี 61 ที่ใช้งบลงทุน 16,000-20,000 ล้านบาท ไม่นับรวมค่าประมูลคลื่น โดยเป็นการลงทุนขยายโครงข่ายบนคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์(MHz) 2100 MHz 900 MHz และ 1800 MHz

ทั้งนี้ ในปี 62 บริษัทจะใช้เม็ดเงินลงทุนที่ตั้งไว้ดังกล่าวในการขยายโครงข่าย 2300 MHz ต่อเนื่องจากปีนี้ที่มีการลงทุนโครงข่าย 13,000 สถานีฐาน ซึ่งจะเพิ่มเป็น 15,000 สถานีฐานในช่วงต้นปี 62 และขยายโครงข่ายบนคลื่น 2100 MHz ต่อเนื่องจากปีนี้ที่ลงทุนติดตั้งไปแล้ว 4,000 สถานีฐาน

นอกจากนี้ จะมีการลงทุนในการเปลี่ยนผ่านจากคลื่น 850 MHz ไปเป็น 900 MHz ซึ่งส่วนนี้จะใช้เวลา 2 ปี เพื่อขยายพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่วนคลื่น 1800MHz ก็ยังลงทุนเพิ่มเติมด้วย

อนึ่งในวันนี้ (18 ธ.ค.) ดีแทค ไตรเน็ต บริษัทย่อยของ DTAC รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ทั้ง 900 MHz และ 1800 MHz ทำให้ DTAC มีคลื่นให้บริการรวม 110 MHz ได้แก่ คลื่น 900 MHz จำนวน 10 MHz, คลื่น 1800 MHz จำนวน 10 MHz, คลื่น 1800 MHz จำนวน 30 MHz และ คลื่น 2300 MHz จำนวน 60MHz

โดยภาพรวมคลื่นความถี่ที่ดีแทคนำมาให้บริการจะมีคลื่นความถี่ในย่านดาวน์โหลดมากที่สุด ซึ่งทำให้ยกระดับประสบการณ์ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนสมาร์ทโฟนของผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะดูวิดีโอความละเอียดสูงแบบ HD หรือการใช้งานเว็บไซต์ต่างๆ กอปรด้วยการเร่งขยายเสาสัญญาณเพิ่มขึ้นทั่วไทย ทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าดีแทคจะได้รับประสบการณ์ใช้งานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“วันนี้ เป็นวันสำคัญที่จะถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์แห่งความท้าทายของดีแทคตั้งแต่เปิดให้บริการมา 28 ปี บนสัมปทานคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ที่สิ้นสุดลงเมื่อ 15 ก.ย.61 โดยดีแทคได้เปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ระบบใบอนุญาต โดยดีแทคประมูลชนะได้รับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz เพื่อมาให้บริการลูกค้าทั่วประเทศ”  นายราจีฟ กล่าวว่า

ลูกค้าดีแทคมั่นใจได้ในการใช้งานมือถืออย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ ด้วยการที่ดีแทคมีคลื่นให้บริการครบทุกย่าน คือ ทั้งคลื่นย่านความถี่ต่ำและความถี่สูง โดยเฉพาะคลื่นย่านความถี่ต่ำ 900 MHz จะทำให้ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล สำหรับการให้บริการคลื่นย่านความถี่สูง

นอกจาก1800 MHz ที่ดีแทคได้รับใบอนุญาตแล้ว ยังมีคลื่นสำหรับดีแทคเทอร์โบ หรือการให้บริการบนคลื่น 2300MHz ที่เป็นพันธมิตรกับทีโอที ซึ่งนับเป็นคลื่นย่านความถี่สูงที่สำคัญอีกคลื่นที่ดีแทคให้บริการ นอกจากจะเป็นคลื่นเดียวที่มีความกว้างสูงสุด 60 MHz แล้ว การให้บริการคลื่น 2300 MHz ยังสามารถรองรับ 5G ในอนาคต และวันนี้ดีแทคยังได้พัฒนาการให้บริการสู่การรับส่งสัญญาณด้วย Massive MIMO 64×64 เทคโนโลยีล่าสุดระดับโลก ทั้งนี้ ดีแทคจะไม่หยุดพัฒนาโครงข่ายเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ 5G ดีแทคได้เตรียมพร้อมรองรับเทคโนโลยี 5G แต่ยังต้องรอโรดแมพการใช้คลื่นความถี่และวิธีการให้ใช้คลื่นความถี่จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำแผนการใช้คลื่นความถี่ชัดเจนเพื่อให้การเตรียมตัวของโอเปอเรเตอร์และการลงทุนสอดคล้องกัน เพราะมีการลงทุนสูง

“คลื่นที่ทำ 5G ใช้จำนวนถึง 100 MHz ต้องมีแผนระยะยาวในการใช้คลื่น ไม่ใช่แค่หยิบมาบ้างคลื่น ในการนำคลื่นใดมาใช้ 5G แต่จำเป็นต้องวางแผน ได้แก่ 700MHz 2600MHz 3500MHz เพราะ 5G ไม่ใช่เพียงแค่กำหนดว่าจะใช้คลื่นอะไรและความเร็ว แต่จำเป็นต้องมีความร่วมมือกันทางภาครัฐและเอกชน การนำมาใช้งานได้จริงทั้งในอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ที่ผ่านมาในหลายประเทศมีการทดสอบและยังไม่ได้ประสบความสำเร็จ เราควรเรียนรู้ข้อผิดพลาดและนำมาต่อยอด ให้เกิดการให้บริการ 5G”นายราจีฟ กล่าว

ด้าน  นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในวันนี้ สำนักงาน กสทช.ได้มอบใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ช่วงความถี่ 1745-1750 คู่กับ 1840-1845 MHz และใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ช่วงความถี่ 890-895 MHz คู่กับ 935-940 MHz ให้แก่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) โดยทั้งใบอนุญาตให้ใช้คลื่น 1800MHz และ 900MHz มีผลตั้งแต่ 16 ธ.ค.61 สิ้นสุดในวันที่ 15 ธ.ค.76

 

 

Back to top button