ITEL ปักเป้าปี 62 รายได้แตะ 2 พันลบ. พร้อมเดินหน้าประมูลงานใหม่ต่อเนื่อง

ITEL อัพเป้ารายได้ปีนี้เป็น 1.6 พันลบ. จากเดิม 1.4 พันลบ. หลังคว้างานยูโซ่เน็ต เฟส 2 มูลค่า 3.6 พันลบ. หนุน Backlog แตะ 6 พันลบ.สูงสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมปักธงปี 62 รายได้แตะ 2 พันลบ. ลุยเดินหน้าประมูลงานใหม่ต่อเนื่อง


นายณัฐนัย อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติปรับเพิ่มเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปี 2561 เป็น 1,600 ล้านบาท โตเกิน 40% จากเป้าหมายเดิมอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท หรือเติบโต 40%  เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทในงวด 9 เดือนของปี 2561 อยู่ที่กว่า 90% ของเป้าหมายที่วางไว้เมื่อช่วงต้นปี และการได้งานโครงการ USO เฟส 2 เพิ่มเติมเข้ามาอีก มีผลทำให้ผลประกอบการในปี 2561 เติบโตเกินเป้าหมายที่วางไว้  อีกทั้งบริษัทยังมีงานอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างรอผลการประมูล

ล่าสุดบริษัทฯ ได้งานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเปิดประมูลโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) จำนวน 15,732 หมู่บ้าน หรือ USO 2

โดยประกอบไปด้วยสัญญากลุ่มที่ 6 ภาคกลาง 1 ซึ่งเข้าประมูลในนามคอนโซเตียมกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และสัญญากลุ่มที่ 8 ภาคใต้ ซึ่งเข้าประมูลในนามบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL มูลค่ารวมกันกว่า 3,560 ล้านบาท เมื่อนำมารวมกับงานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ที่มีในปัจจุบัน 2,500 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีงานในมือเพิ่มขึ้นเป็น 6,060 ล้านบาท  โดยสัญญาโครงการ USO เฟส 2 ดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้นประมาณ 6 ปี โดยในปีแรกจะต้องดำเนินการติดตั้งให้แล้วเสร็จ คิดเป็น 40% ของมูลค่างานทั้งหมด และให้บริการต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลา 5 ปีภายหลังส่งมอบ

ขณะที่ก่อนหน้านี้  ITEL ชนะการประมูลงานของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมกับบริษัท อินฟอร์เมชั่น แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น เน็ทเวิร์คส จำกัด (มหาชน) หรือ ICN ในนามกิจการค้าร่วมอินเตอร์ลิงค์ เทเลคอมฯ และ ICN ในงานจ้างระบบสื่อสารรองรับงาน DMS มูลค่าราว 414.35 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แบ่งเป็นการดำเนินงานของ ITEL มูลค่างาน 276.39 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และการดำเนิงานของ ICN มูลค่างาน 137.95 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)  คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจปี 2562 จากงานในมือที่มีเพิ่มขึ้นและแผนธุรกิจที่ชัดเจน บริษัทได้ปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้เป็น 2,000 ล้านบาท จากเดิมที่วางไว้ 1,800 ล้านบาท เติบโต 30-40%  โตต่อเนื่องจากปี 2561 จากธุรกิจให้บริการและติดตั้งโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง และมองว่าในปีหน้ายังอยู่ในเทรนด์ของการลงทุนเกี่ยวกับการสื่อสารในยุคดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะมีงานออกมาเป็นจำนวนมาก  โดย ITEL พร้อมเดินหน้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่องทั้งจากภาครัฐและเอกชน หนุนรายได้ให้เติบโตแข็งแกร่งในอนาคตมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจให้บริการติดตั้งโครงข่ายมีแนวโน้มเติบโตไปตามเทรนด์ 4G และ 5G  จากการที่ผู้ให้บริการมือถือมีการขยายโครงข่าย โดย ITEL เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ที่ติดตั้งโครงข่าย ให้กับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ชั้นนำ การเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะ 5G ที่กำลังจะมา จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อจากการใช้งาน IOT ต่างๆ ปริมาณข้อมูลคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จะเป็นผลบวกกับบริษัทเรา” นาย ณัฐนัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯตั้งเป้าหมายว่าภายใน  3-5 ปีนี้ รายได้ต่อปีจะต้องเติบโตประมาณ 40% ขณะที่อัตรากำไรสุทธิต้องการจะเติบโตให้ได้ 20% ภายในปี 2564  โดยมาจาก 3 ธุรกิจหลักประกอบด้วย “บริการโครงข่ายเชื่อมข้อมูลหรือดาต้า เซอร์วิส” เติบโตต่อปี 20-30% ตั้งเป้าหมายรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60-70% ของรายได้รวม ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า, โรงภาพยนตร์ โรงพยาบาล ปั๊มน้ำมัน ผู้ให้บริการมือถือ ฯลฯ

โดยในปีนี้ได้ขยายฐานเพิ่ม เช่น ปั๊มน้ำมันซัสโก้ อิออน  เงินติดล้อ เมืองไทยลิสซิ่ง และภาครัฐ อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประปาส่วนภูมิภาค ฯลฯ “บริการติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคม” สัดส่วน 20-30% ของรายได้  มีแนวโน้มเติบโตไปตาม 4  จี และ 5 จี  ยังอยู่ในเทรนด์ที่ผู้ให้บริการมือถือ หรือโอเปอเรเตอร์ มีการขยายโครงข่าย บริษัทเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ที่ติดตั้งลูกค้า อาทิ ทรู และเอไอเอส และสุดท้าย “บริการดาต้า เซ็นเตอร์” ปัจจุบันมีอยู่ 2 แห่ง แห่งแรกให้บริการครบ 95% ส่วนแห่งที่ 2 มีจำนวน 624 แร็ค คาดภายในสิ้นปี 2561 จะมีผู้ใช้บริการ 50-60%  ส่วนแผนปี 2562 บริษัทจะให้บริการดาต้า เซ็นเตอร์ ที่เหลืออีก 30% โดยโฟกัสกลุ่มธนาคารและหน่วยงานภาครัฐ

ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไปจะเห็นแผนกลยุทธ์ของอินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอมในเชิงรุกมากขึ้นโดยจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ บริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะให้ความสำคัญกับธุรกิจแบบครบวงจรรวมถึงการค้นหาธุรกิจใหม่ๆซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัทและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นายณัฐนัย กล่าว

Back to top button