CKP วอลุ่มหนา-พุ่งแรง 5% นิวไฮตั้งแต่เข้าตลาดฯ โบรกฯเชียรซื้อ-กำไร Q1/62 โตเด่นกว่าคาด

CKP วอลุ่มหนา-พุ่งแรง 5% นิวไฮตั้งแต่เข้าตลาดฯ โบรกฯเชียรซื้อ-กำไร Q1/62 โตเด่นกว่าคาด โดย ณ เวลา 10.45 น. อยู่ที่ระดับ 5.60 บาทบวก 0.25 บาท หรือ 4.67% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 364.20 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ณ เวลา 10.45 น. อยู่ที่ระดับ 5.60 บาทบวก 0.25 บาท หรือ 4.67% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 364.20 ล้านบาท ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงนับตั้งแต่เข้าตลาดเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2556

บล.เอเชีย เวลท์ ระบุว่า CKP  (AWS TP 5.80 บาท) บริหารจัดการน้ำในเขื่อนน้ำงึม 2 ได้ดี ทำให้มีปริมาณน้ำสำหรับการผลิตไฟฟ้าได้สูง และคาดว่าผลประกอบการไตรมาส 1/62 จะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์

บล.ไอร่า ระบุว่า กลุ่มพลังงาน กลุ่มโรงไฟฟ้าที่รายได้มีความมั่นคง เช่น BGRIM, GULF และ CKP และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เช่น PTT, PTTEP

อนึ่งก่อนหน้านี้ นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาตรงกับรัฐบาลลาวเพื่อพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำ ขนาดติดตั้ง 1,000-1,500 เมกะวัตต์ คาดว่าภายในปีนี้จะสรุปผลได้หลังใช้เวลาเจรจานานกว่า 1 ปี

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น โซลาร์เซลล์รูฟท็อป และโซลาร์ลอยน้ำ ประมาณ 5-10 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 29 เมกะวัตต์

รวมทั้งบริษัทมีแผนเข้าร่วมประมูลดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าเอสพีพี, โรงไฟฟ้าโซลาร์ อย่างแน่นอน ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าขยะที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติม นอกจากนี้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) จะนำเข้าไฟฟ้าพลังงานน้ำ (Import Hydro) จากประเทศเมียนมาและลาว โดยในเมียนมามีศักยภาพโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้งประเทศราว 1 แสนเมกะวัตต์ โดยบริษัทศึกษาการดำเนินโครงการใกล้ชายแดนไทย

นายธนวัฒน์ คาดว่า รายได้ในปีนี้เติบโต 8-10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 9.1 พันล้านบาท เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ของโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ปรับขึ้น 8% ตามสัญญา และโรงไฟฟ้าบางปะอิน 2 (BIG2) มีรายได้เข้ามาเต็มที่ตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม ในเดือน มิ.ย.จะปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าบางปะอิน 1 จำนวน 15 วัน และมีโรงไฟฟ้า Solar Rooftop จำนวน 7 เมกะวัตต์ที่จะทยอย COD จนครบในไตรมาส 3/62

ส่วนในไตรมาส 1/62 มีแนวโน้มผลประกอบการดีกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณน้ำในโครงการน้ำงึม 2 สูงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว  และแนวโน้มไตรมาส 2/62 ก็ดีด้วย แต่ในช่วงครึ่งหลังปี 62 ยังต้องจับตาสภาวะอากาศที่มีผลต่อปริมาณน้ำ

สำหรับโครงการไซยะบุรี ที่ CKP ถือหุ้น 37.5% โดยมีขนาดกำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ จะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในปลายเดือน ต.ค.นี้ บริษัทจึงจะรับรู้กำไรในรูปเงินปันผลเช้ามา แม้ว่าที่ผ่านมาเดินเครื่องมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำมารับรู้ฯ เป็นเพียงการบันทึกหักค่าใช้จ่ายที่ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง

ทั้งนี้ โครงการไซยะบุรี มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท ใช้ระยะเวลาคืนทุน 18 ปี ไม่นับรวมระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งที่ 5,800 เมกะวัตต์ในปี 68 และมีความเป็นไปได้จากปัจจุบันกำลังการผลิตที่ 2,167 เมกะวัตต์ในปี 61

บริษัทเตรียมแผนปรับหนี้สกุลเงินดอลลาร์เป็นหนี้สกุลบาทของโครงการไซยะบุรีที่มีหนี้สกุลดอลลาร์กว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ และหนี้เงินบาทกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบัน CKP มีต้นทุนดอกเบี้ย 3.6% ลดลงจาก 4% ช่วยลดภาระดอกเบี้ย ปีละ 150 ล้านบาท และมีอัตราหนี้สินสุทธิต่อทุน 0.76 เท่า

Back to top button