GULF วิ่งไฟแล่บ! ทุบสถิติตั้งแต่เข้าตลาดฯ BBL-STEC-ROJNA ฟันกำไรจากไอพีโอ 130.50 บ./หุ้น

GULF วิ่งไฟแล่บ! ทุบสถิติตั้งแต่เข้าตลาดฯ BBL-STEC-ROJNA ฟันกำไรจากไอพีโอ 130.50 บ./หุ้น


สืบเนื่องจากราคาหุ้น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ (17 ต.ค.62)  ปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 175.50 บาท บวก 4.50 บาท หรือ 2.63% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.43 พันล้านบาท  สูงสุดตั้งแต่เข้าตลาดฯซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่ GULF เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2560 ราคาเสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) อยู่ที่ระดับ 45 บาท จะพบว่าราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 130.50 บาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 290%

ทั้งนี้ทีมข่าวข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการสำรวจข้อมูลผู้ถือหุ้นของ GULF จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ล่าสุด ณ วันที่ 3 พ.ค.2562 พบว่ามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงทุนในหุ้น GULF จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ 1.) ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL 2.) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และ 3.) บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA

โดย BBL, STEC และ ROJNA ลงทุนซื้อหุ้นไอพีโอ GULF หุ้นละ 45 บาท โดย BBL เข้าซื้อหุ้นจำนวน 64 ล้านหุ้น มูลค่า ณ วันเข้าลงทุนประมาณ 2.88 พันล้านบาท ส่วน STEC เข้าซื้อหุ้นจำนวน 40 ล้านหุ้น รวมมูลค่าประมาณ 1.8 พันล้านบาท ขณะที่ ROJNA เข้าซื้อหุ้นจำนวน 20 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณ 900 ล้านบาท

ทั้งนี้ สัดส่วนการถือหุ้น GULF ของ BBL และ ROJNA จากข้อมูลผู้ถือหุ้น GULF ณ วันที่ 3 พ.ค.2562 มีจำนวนลดลงจากเดิม โดย BBL เหลือสัดส่วนการถือหุ้น 47.50 ล้านหุ้น  และ ROJNA เหลือสัดส่วนการถือหุ้น 19.40 ล้านหุ้น  ขณะที่  STEC ยังคงถือหุ้นในจำนวน 40 ล้านหุ้นเท่าเดิม

โดยราคาหุ้น GULF ที่ปรับตัวขึ้นจากราคา IPO ที่ 45 บาท ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 175.50 บาท ส่งผลให้ BBL, STEC และ ROJNA จะมีการบันทึกกำไรส่วนต่างราคาหุ้น GULF แบบการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยให้สะท้อนราคาตลาดที่เป็นธรรม หรือ Mark to Market ในพอร์ตลงทุนได้สูงถึงหุ้นละ130.50  บาท

ดังนั้นหากทั้ง 3 บริษัททำ Mark to Market ที่ราคาล่าสุด 130.50 บาท จึงเท่ากับว่าทั้ง 3 บริษัทจะมีสินทรัพย์จากเงินลงทุนสูงขึ้น โดย BBL จะสามารถบันทึกกำไรจากพอร์ตลงทุนได้ราว 6.19 พันล้านบาท ส่วน  STEC บันทึกกำไรจากพอร์ตลงทุน 5.42 พันล้านบาท  และ ROJNA บันทึกกำไรจากพอร์ตลงทุน 2.53 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพบว่ามี 2 กองทุนที่ลงทุนในหุ้น GULF ประกอบด้วย 1.) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 (SCBLT1) และ 2.) กองทุนเปิด บัวหลวงทศพล (BTP) โดยกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 13 ของ GULF ถือหุ้นในสัดส่วน 11,902,200 หุ้น หรือคิดเป็น 0.56% ซึ่งกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) ไม่มีกำหนดอายุ และมีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.ของทุกปี ซึ่งหากมีการทำ Mark to Market ที่ราคาวันนี้ (17 ต.ค.62) 175.50 บาท กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 จะสามารถบันทึกกำไรจากพอร์ตลงทุน 1.55 พันล้านบาท

ส่วนกองทุนเปิด บัวหลวงทศพล เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 14 ของ GULF ถือหุ้นในสัดส่วน 10,738,800 หุ้น หรือคิดเป็น 0.50% ซึ่งกองทุนดังกล่าวเป็นกองทนรวมตราสารทุนประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ไม่มีกำหนดอายุ และมีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดทุกวันที่ 6 ต.ค.ของทุกปี ซึ่งซึ่งหากมีการทำ Mark to Market ที่ราคาวันนี้ (17 ต.ค.62) 175.50 บาท กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 จะสามารถบันทึกกำไรจากพอร์ตลงทุน 1.4 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าการคำนวณกำไรดังกล่าวจะยังไม่ใช่กำไรที่เกิดขึ้นจริง(ยังไม่ได้ขาย) แต่ในระยะเวลาเพียง 20 เดือน จะเห็นว่า GULF สามารถทำกำไรให้บริษัทจดทะเบียน และ บริษัทจัดการกองทุนรวมดังกล่าวเกือบ 300%

อนึ่ง mark to market คือ การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยให้สะท้อนราคาตลาดที่เป็นธรรม” หรือ วิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนถืออยู่ไม่ว่าจะเป็น หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร ฯลฯ ให้เป็นมูลค่าตามตลาดหรือราคาตลาดปัจจุบัน หรือราคาล่าสุด ที่เกิดการซื้อขายจริงๆในวันนั้นๆ หรือวันก่อนก่อนหน้า (หากวันนั้นไม่มีการซื้อขาย) ซึ่งหลักการของการ mark to market สำหรับกิจการที่ประกอบธุรกิจด้านการลงทุน เช่น กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 42 เรื่อง การบัญชีสำหรับกิจการที่ดำเนินธุรกิจเฉพาะด้านการลงทุน

Back to top button