WP คาดผลงานปี 63 สดใสรับปริมาณขาย LPG ขยายตัว รุกแตกไลน์ธุรกิจอาหาร

WP คาดผลงานปี 63 สดใสรับปริมาณขาย LPG ขยายตัว พร้อมรุกแตกไลน์ธุรกิจอาหาร ตั้งงบลงทุน 350-400 ล้านบาท ใช้เพิ่มจุดกระจายสินค้าหรือโรงบรรจุ LPG


นายนพวงศ์ โอมาธิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (มหาชน) หรือ WP เปิดเผยว่า แนวโน้มผลกำไรจากการดำเนินงานปี 63 น่าจะเติบโตจากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามปริมาณขายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่คาดจะขยายตัวราว 2-3% มาที่ 8 แสนตัน จาก 7.7 แสนตันในปีที่แล้ว และอัตรากำไรสุทธิที่น่าจะทำได้ดีกว่า 2% ในปีก่อน จากต้นทุนที่ลดลง

ขณะที่ปรับแผนหันรุกธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่องพลังงาน อย่างธุรกิจอาหารที่มองว่าตลาดดีมาก และมีมาร์จิ้นสูง ท่ามกลางภาวะตลาด LPG ที่ค่อนข้างตึงตัวและใกล้ถึงจุดอิ่มตัว โดยจัดงบ 60-70 ล้านบาทในช่วง 2 ปีนี้ (ปี 63-64) หวังผลักดันสัดส่วนกำไรธุรกิจอาหารสู่ระดับ 10% หลังเตรียมปิดอย่างน้อย 1 ดีลใช้เงินลงทุนไม่เกิน 10 ล้านบาทเสนอคณะกรรมการพิจารณาในราวไตรมาส 1/63

ธุรกิจ LPG เกือบจะอิ่มตัว การเติบโตอยู่ราว 2-3% เท่านั้น เรามองการลงทุนธุรกิจใหม่ใน 2 ส่วน คือส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงาน อย่างธุรกิจเรือ ซึ่งใช้เงินลงทุนเยอะ ก็คงไม่ใช่ปีนี้ ธุรกิจผลิตและซ่อมถัง LPG ก็หวังว่าจะจบในปีนี้ และส่วนที่ไม่เกี่ยวกับพลังงาน ใช้เงินลงทุนไม่เยอะ แต่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ที่เราสนใจอาหารเพราะธุรกิจบูมมาก เรามีเงินพอสมควรก็ต้องบริหารเงินให้คุ้มค่า”นายนพวงศ์ กล่าว

สำหรับการลงทุนธุรกิจอาหารจะเป็นรูปแบบการเข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ street food ที่มีอยู่แล้วและมีชื่อเสียง และจะเข้าไปสนับสนุนด้านการบริหารจัดการในเชิงธุรกิจเพื่อให้สามารถขยายงานได้มากขึ้น โดยคาดหวังว่าธุรกิจอาหารจะสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ได้มากกว่า 30% สูงกว่าธุรกิจ LPG ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ปัจจุบันมี IRR อยู่ที่ราว 10-12% เท่านั้น

ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องพลังงาน ก็ยังมองโอกาสการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจผลิตถังและซ่อมถัง LPG ที่ยังคงเจรจาและหาข้อสรุปการลงทุน เบื้องต้นยังหวังว่าจะจบได้ภายในปีนี้ โดยมีเงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท รวมถึงธุรกิจกองเรือ ที่ปัจจุบันยังต้องจ้างการขนส่งทางเรือ ถ้าได้เข้าไปร่วมลงทุนก็จะช่วยต่อยอดธุรกิจ LPG ,ธุรกิจผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายจะใช้เงินลงทุนในปีนี้ ราว 350-400 ล้านบาท โดยประมาณ 200 ล้านบาท จะใช้เพิ่มจุดกระจายสินค้าหรือโรงบรรจุ LPG ต่อเนื่องจากปลายปีก่อน โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มราว 15-20 จุดภายในสิ้นปีนี้ จากที่มีอยู่ 160 จุด และวางเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 200 จุดในอนาคตเพื่อให้สามารถขยายตลาด LPG ได้เพิ่มขึ้น ส่วนงบลงทุนอีกราว 100 ล้านบาท เตรียมไว้ลงทุนในธุรกิจถัง LPG และอีกราว 30 ล้านบาท รองรับลงทุนธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับพลังงาน (non energy) เป็นต้น

สำหรับเงินลงทุนจะมาจากผลการดำเนินงานที่แต่ละปีสามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) กว่า 500 ล้านบาท/ปี และเงินกู้ส่วนหนึ่ง โดยปัจจุบันมีหนี้สินในส่วนที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน ราว 0.15 เท่าเท่านั้น

สำหรับธุรกิจ LPG ของบริษัทในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าตลาดรวมที่คาดว่า ตลาดภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมจะยังทรงตัว หลังในปีก่อนหดตัวลง 1% และ 5% ตามลำดับ ส่วนตลาดรถยนต์ น่าจะหดตัวต่อเนื่องราว 8-10% จากปีก่อนที่หดตัว 12% โดยธุรกิจ LPG ของบริษัทที่ยังขยายตัวนั้น เป็นผลจากการเพิ่มจุดกระจายสินค้าทำให้ขยายฐานลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงปรับสัดส่วนการขาย โดยเน้นกลุ่มครัวเรือน ที่มีมาร์จิ้นสูง เป็น 62-63% จากกว่า 50% ในปีที่แล้ว และลดสัดส่วนการขายกลุ่มรถยนต์ ที่มีมาร์จิ้นต่ำ เป็น 15-16% จาก 18% ในปีที่แล้ว ส่วนอุตสาหกรรมน่าจะยังทรงตัวราว 12% ส่วนที่เหลือเป็นอื่น ๆ และภายใน 5 ปี กลุ่มครัวเรือนจะเพิ่มสัดส่วนเป็นราว 80% ส่วนรถยนต์ จะอยู่ที่ราว 10%

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนานั้น เชื่อว่าน่าจะส่งผลกระทบบ้าง แต่จะมากน้อยแค่ไหนนั้นยังไม่สามารถระบุได้ เพราะส่วนหนึ่งยังเชื่อว่ายังมีความต้องการใช้ LPG อยู่เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค

ขณะเดียวกันปีนี้มาร์จิ้นน่าจะดีขึ้น จากต้นทุนที่ลดลงทั้งในส่วนของต้นทุนการซื้อ LPG หลังจากที่ปีนี้ไม่มีโรงกลั่นหยุดซ่อมบำรุงใหญ่เหมือนปีที่ผ่านมาที่มีโรงกลั่น 2-3 แห่งหยุดซ่อมบำรุงทำให้ LPG ขาด และบมจ.ปตท. (PTT) ต้องนำเข้ามาจำหน่าย ทำให้บริษัทในฐานะผู้ที่ซื้อ LPG ต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันคลัง LPG บางประกง เฟส 3 ความจุ 9,500 ตันจะแล้วเสร็จในราวเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่คาดว่าจะเสร็จในปลายปี 63 ทำให้มีขีดความสามารถจัดเก็บ LPG เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 20,000 ตันจากคลังที่มีอยู่ 6 แห่ง ใน 5 จังหวัด ทำให้ไม่จำเป็นต้องเช่าคลัง LPG เพิ่มเติมส่งผลให้ต้นทุนการเช่าคลังลดลงในปีนี้ และไม่จำเป็นต้องเช่าคลังเพื่อเก็บ LPG ต่อไปในอนาคตด้วย

ส่วนปริมาณขาย LPG ในปี 62 ที่ทำได้เพียง 7.7 แสนตัน เป็นระดับทรงตัวจากปี 61 ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ที่ 8.4 แสนตัน เนื่องจากตลาดรถยนต์หดตัวมากกว่าที่คาด แต่ไม่ได้กระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้นมากนักเพราะมาร์จิ้นในตลาดรถยนต์ไม่มากนัก อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรพิเศษจากการขายที่ดินและผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ทำให้สามารถจ่ายปันผลระหว่างกาลในปี 62 อัตรา 0.20 บาท/หุ้น ซึ่งนับเป็นการจ่ายปันผลครั้งแรกในรอบกว่าสิบปี และในช่วงเดือนมี.ค.นี้ ก็เตรียมที่จะนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาจ่ายปันผลงวดสุดท้ายของปี 62 ต่อไป

ปัจจุบัน WP มีส่วนแบ่งตลาดยอดขาย LPG ในประเทศ ภายใต้แบรนด์ “เวิลด์แก๊ส” เป็นอันดับ 3 มีส่วนแบ่งตลาดราว 18% รองจาก PTT ที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 และ บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2

Back to top button