“เวิลด์แบงก์” ชี้ศก.ไทยอ่วม ปี 58-61 คนจนเพิ่ม 6.7 ล้าน-GDP โตต่ำสุดในภูมิภาค!

“เวิลด์แบงก์” ชี้เศรษฐกิจไทยอ่วม ปี 58-61 คนจนเพิ่ม 6.7 ล้าน-GDP โตต่ำสุดในภูมิภาค!


นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์ความยากจน และแนวโน้มความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย จากสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐ โดยพบว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดความยากจนตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จากเมื่อปี 2531 ที่มีสัดส่วนคนยากจนมากกว่า 65% เป็นต่ำกว่า 10% ในปี 61 แต่การเติบโตของรายได้ครัวเรือนและการบริโภคได้หยุดชะงักลงทั่วประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความก้าวหน้าในการลดความยากจนของประเทศไทยถดถอยลง พร้อมกับจำนวนประชากรยากจนที่เพิ่มขึ้น

โดยพบว่า ระหว่างปี 2558-2561 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.2% เป็น 9.8% หรือเพิ่มจาก 4,850,000 คน เป็นมากกว่า 6,700,000 คน ซึ่งความยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2561 กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประชากรยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 500,000 คน

ขณะที่จังหวัดที่มีอัตราความยากจนสูงสุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ปัตตานี กาฬสินธุ์ นราธิวาส และตาก โดยส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใกล้พรมแดน หรืออยู่ในพื้นที่ขัดแย้งในภาคใต้ และสามจังหวัดชายแดนใต้ที่สูงสุดเป็นครั้งแรกในปี 2560

รายงานฉบับนี้วิเคราะห์ว่า ความยากจนที่เพิ่มขึ้นเร็วๆ นี้ เกิดขึ้นพร้อมกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใหม่และเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจไทย ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ คือ 2.7% ในช่วงไตรมาส 4/62 นอกจากนี้ ภาวะภัยแล้งได้เริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดอยู่แล้ว

“แนวโน้มความยากจนในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า แม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาการด้านเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง แต่ครัวเรือนก็ยังมีความเปราะบางต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ” นางฮานสล์ กล่าว

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่สถานะประเทศที่มีรายได้สูงอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้นั้น ครัวเรือนของประเทศไทยต้องได้รับการปกป้องจากการที่รายได้ของครัวเรือนปรับลดลงรุนแรง เช่น จากความเจ็บป่วย การตกงาน และภัยธรรมชาติที่ดีกว่านี้ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ประเทศไทยต้องสนับสนุนให้มีการสร้างงานที่มีผลิตภาพและงานที่มีค่าจ้างที่สูงกว่านี้

โดยนับตั้งแต่ปี 2531 ซึ่งเป็นปีแรกที่ได้จัดพิมพ์อัตราความยากจนอย่างเป็นทางการอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่า ที่ผ่านมาอัตราความยากจนของไทยเพิ่มขึ้น 5 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือปี 2561 และ 2559  นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 3 ครั้งในปี 2541, 2543 และ 2551 ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่มีอัตราความยากจนเพิ่มขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยมีตัวชี้วัดระดับสากลด้านความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระดับดี เช่น การเรียนของเด็กปฐมวัย การมีน้ำใช้ มีสุขาภิบาล และมีไฟฟ้าใช้ที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน แต่ความเหลื่อมล้ำยังเป็นประเด็นสำคัญของไทยที่ความมั่งคั่งยังไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชาชนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งมีสัดส่วน 40% โดยปี 2558-2560 พบว่าประชากรกลุ่มนี้มีการบริโภคและรายได้ที่ติดลบ จากรายได้แรงงานทุกประเภทที่ลดลง การหยุดนิ่งของการขึ้นค่าแรงและรายได้จากภารเกษตรและธุรกิจลดลง

ดังนั้น รายงานของธนาคารโลกฉบับนี้ เรียกร้องให้ไทยมีมาตรการและการลงทุน เพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น ประเทศไทยต้องมีการบังคับใช้โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม นอกจากนี้ ต้องมีการระบุประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้เที่ยงตรงกว่านี้ และต้องดำเนินอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างงานที่ดีกว่าให้กับครัวเรือนในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้

ส่วนในระยะยาว การลงทุนในคนรุ่นใหม่อย่างเท่าเทียมกันถือเป็นประเด็นสำคัญ คนรุ่นต่อไปจะมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและอัตราการเจริญพันธุ์ลดลง เด็กทุกคนต้องได้รับความใส่ใจอย่างเท่าเทียม และได้รับโอกาสทางสุขภาพและการศึกษาอย่างเสมอภาค เพื่อให้เด็กเหล่านี้สามารถพัฒนาไปถึงศักยภาพพวกเขาไปถึงจุดสูงสุดได้

Back to top button