“ศูนย์ข้อมูลโควิด-19” เผยแรงงานเกาหลีกลับไทยแล้ว 4.7 พันราย ยันคัดกรองเข้มตั้งแต่ต้นทาง!

“ศูนย์ข้อมูลโควิด-19” เผยแรงงานเกาหลีใต้กลับถึงไทยแล้วกว่า 4.7 พันราย ยันมาตรการคัดกรองเข้มตั้งแต่ต้นทาง!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 มี.ค.63) รัฐบาลเปิดศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นวันแรก โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงสถานการณ์และมาตรการรองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้

โดยนายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่อยู่ในประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 209,909 คน ทำงานอย่างถูกกฎหมาย 57,470 คน และผิดกฎหมาย 152,439 คน

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2563 มี แรงงานที่เดินทางกลับมาทั้งสิ้น 4,727 คน จากทั้งหมด 5,386 คน ที่แสดงความจำนงว่าจะเดินทางกลับ ซึ่งทุกคนต้องผ่านการคัดกรองตามขั้นตอนของทางการเกาหลีใต้ และหากมีอาการป่วย จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเครื่อง ซึ่งย้ำว่ากระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ประสานความร่วมมือกับทางการเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิดในการคัดกรองแรงงานที่จะเดินทางกลับประเทศไทย

ด้านนายจักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แรงงานในเกาหลีใต้ มีทั้งแรงงานที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ดังนั้นขออย่าเหมารวมว่าคนที่เดินทางกลับมาเป็นผีน้อย เพราะบางคนเป็นแรงงานถูกกฎหมายที่เดินทางกลับมาเพราะหมดสัญญา

แต่สาเหตุที่มีแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้เดินทางกลับมาในระยะนี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเกาหลีใต้ มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมตั้งแต่ 11 ธ.ค.62 – มิ.ย.63 ให้เดินทางกลับประเทศตัวเองได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่มีแบล็คลิสต์ โดยและสามารถกลับไปทำงานที่เกาหลีใต้ได้ โดยได้เดินทางมาเป็นระลอกแล้วตั้งแต่ ธ.ค.62 แต่ละเดือนไม่มาก เมื่อมาเจอโควิด-19 กระแสการเดินทางเห็นการเปลี่ยนแปลงระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงแรงงานได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเข้าตรวจสอบและแก้ไขปัญหา โดยจะมีการเก็บข้อมูลของแรงงานทุกคน เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาทั้งเรื่องไวรัส และปัญหาแรงงานไปในคราวเดียวกัน

ขณะที่นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการจัดสถานที่รองรับแรงงานที่กลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงว่า ขณะนี้ทางกระทรวงมหาดไทยในระดับจังหวัด ได้จัดเตรียมสถานที่ตามมาตรฐานที่คณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัดได้แจ้งไว้แล้ว รวมถึงมีกลไกของส่วนท้องถิ่นในการติดตามและเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง พร้อมขอให้มั่นใจว่าจะใช้กลไกที่มีอย่างเต็มที่ในการป้องกันการแพร่ระบาด

อย่างไรก็ตาม นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า มีมาตรการคัดกรองผู้โดยสารทุกคนตั้งแต่บนเครื่องบิน และมีการจัดหลุมจอดเฉพาะให้กับทุกเที่ยวบินที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ถ้ามีไข้ อาการทางทางเดินหายใจ จะดำเนินการส่งไปรพ.ในเครือข่ายสาธารณสุข , กลุ่มที่ 2 ดูว่ามาจากพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ เพื่อจัดสถานที่ในการรองรับ และกลุ่มเสี่ยงน้อย ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะออกคำสั่งเพื่อให้ปฏิบัติตาม

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีหน้ากากอนามัยขาดแคลนว่า สาเหตุหลักที่หน้ากากอนามัยขาดแคลน เนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากประเทศจีน และเมื่อจีนเกิดวิกฤตจึงงดการส่งออก ทำให้กำลังการผลิตในปัจจุบันลดลงเหลือ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน จาก 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน โดยในจำนวน 1.2 ล้านชิ้น จะจัดสรรให้ผู้ที่มีความจำเป็นก่อนเป็นอันดับแรก คือ โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มสัมผัสผู้มีความเสี่ยง อาทิ สายการบิน ตรวจคนเข้าเมือง 7 แสนชิ้นต่อวัน และที่เหลือจะกระจายไปยังร้านค้าต่างๆ แต่หากกลุ่มแรกไม่เพียงพอก็จะนำส่วนที่เหลือมาจัดสรรให้เพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในส่วนของราคาหน้ากากอนามัย จะต้องจำหน่ายไม่เกินชิ้นละ 2.50 เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.นี้เป็นต้นไป หากพบผู้จำหน่ายเกินราคา สามารถแจ้งได้ที่ 1569 หรือสถานีตำรวจทุกสถานี พาณิชย์ทุกจังหวัด โดยจะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท

อีกทั้งได้มีการเปิดรับบริจาคกองทุนสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีและครม.ได้ ประเดิมเงินเดือนคนละ 1 เดือนเป็นทุนประเดิมแล้ว โดยสามารถบริจาคร่วมได้ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล พร้อมยืนยันว่า ศูนย์ข้อมูลฯ จะให้ข้อมูลอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากการรายงานทางการแพทย์การรักษา ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข

Back to top button