ศาลรธน.ตีตก! ไม่รับพิจารณา “สุทธิพร-กฤษณ์” ร้องแผน PDP2018 ผิดกฎหมาย

ศาลรธน.ตีตก! ไม่รับพิจารณา “สุทธิพร-กฤษณ์” ร้องแผน PDP2018 ผิดกฎหมาย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (17 มิ.ย.63) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับวินิจฉัยกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องของนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ มหาวิทยาลัยเอแบค  และนายกฤษณ์ ไตลังคะ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 213 ว่าการที่กระทรวงพลังงาน กำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ.2559-2563) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018)

โดยการลดกำลังการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐ ซึ่งเป็นโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51  เป็นการที่หน่วยงานของรัฐ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติกรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม

ทั้งนี้ ถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและประชาชนไทยที่เป็นผู้บริโภคตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้  จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 46  และมาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 213 กฎ ข้อบังคับ และการกระทำในเรื่องดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับมิได้

โดยในวันนี้ศาลฯ พิจารณาว่า กระทรวงพลังงานซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกระทำการดังกล่าวอันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของรัฐ  รัฐธรรมนูญ มาตรา 51 บัญญัติให้สิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งประราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 45 บัญญัติให้ผู้ร้องเรียนทั้งสองในฐานะประชาชนสามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ทั้งนี้กระบวนการร้องต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์  วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติดังกล่าว กรณีตามคำร้องจึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว  แต่ผู้ร้องเรียนยังไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว จึงเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม  บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา  ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย

Back to top button