“บอร์ด กพอ.” เล็งชง “ศบค.” ปลดล็อกนักธุรกิจเข้าปท. หนุนลงทุนพื้นที่ EEC กระตุ้นศก.

“บอร์ด กพอ.” เล็งชง “ศบค.” ปลดล็อกนักธุรกิจเข้าประเทศแบบ Business Bubble หนุนลงทุนพื้นที่ EEC กระตุ้นเศรษฐกิจ หลังวิกฤต "โควิด" คลี่คลาย


นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเสนอแนวทางผ่อนปรนการเดินทางระหว่างประเทศแบบ Business Bubble เป็นลำดับแรกในพื้นที่เฉพาะเจาะจง อาทิ พื้นที่อีอีซี ให้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ต่อไป เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยและต่างประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง

ดังนั้น เพื่อรองรับบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่อีอีซีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สกพอ.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข ถึงแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศไทย ได้แก่ การสร้างภาคีเครือข่ายองค์กร บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต้นทาง กับสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ จัดให้มีการตรวจและออกใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly) การขึ้นทะเบียนสถานที่และการบริการ Alternative State Quarantine เพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซี และทบทวนข้อกำหนด หรือมาตรการให้บุคลากรต่างชาติสามารถทำภารกิจในพื้นที่ได้คล่องตัวยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่อีอีซีจากประเทศญี่ปุ่น อาทิ หอการค้าประเทศญี่ปุ่น (Japanese Chamber of Commerce : JCC) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ETRO) ภาคธุรกิจจากสาธารณรัฐเกาหลี และประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมได้ยื่นหนังสือถึงภาครัฐขอให้ผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ รวมถึงการส่งช่างเทคนิคเข้ามาตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม และเพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซีที่มีเป้าหมายยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ โดยแนวทางการพัฒนานั้น ได้แก่ 1.ใช้ความต้องการนำการผลิต ได้แก่ ความต้องการในประเทศรองรับมหานครการบินภาคตะวันออก เมืองใหม่ และการท่องเที่ยว ส่วนความต้องการในต่างประเทศสำรวจตลาดหาความต้องการเอเชีย CLM) และยุโรป ที่มีความต้องการสูง สร้างความต้องการด้วยการพัฒนาสินค้าใหม่

2.ยกระดับการตลาด-การแปรรูป-การเกษตร ด้วยเทคโนโลยีในทุกขั้นตอน ได้แก่ สร้างตลาดด้วยกลไก e-commerce e-auction ขายไปทั่วโลก เชื่อมระบบโลจิสติก ตั้งแต่ส่งออก-ขายในประเทศ-จนถึงการรวมสินค้าระดับฟาร์ม ให้สะดวกระดับสากล แปรรูปด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ได้สินค้าคุณภาพมาตรฐานระดับโลก เก็บรักษาผลไม้ อาหารทะเล ด้วยระบบห้องเย็น สร้างงานวิจัยเชิงด้านเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริงตรงกับความต้องการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่หีบห่อ การแปรรูป การปลูก การควบคุมความเสี่ยงจากภูมิอากาศ จัดกลุ่มเกษตรกร จัดทำโซนนิ่ง เพื่อสะดวกในการเสริมสร้างความรู้ใหม่ การตลาด-การผลิต-การเงิน

3.ให้ความสำคัญกับเกษตร 5 คลัสเตอร์ที่มีพื้นฐาน ทำได้ทันที ได้แก่ ผลไม้-พืช Bio-Based 3-ประมง-สมุนไพร-พืชมูลค่าสูง (ไม้ประดับ/ผักปลอดสารพิษ) โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซีที่มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก สกพอ. เป็นเลขานุการร่วม

รวมทั้งโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่อีอีซี โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เสนอโครงการพลังงานที่ใช้ในเมืองใหม่ รูปแบบพลังงานอัจฉริยะ (Smart Power Supply: SPS) ในลักษณะการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือ Independent Power Supply (IPS) ซึ่งมอบหมายให้ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งให้ กฟภ.รับซื้อ และส่งจำหน่ายสำหรับใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ สำหรับอัตราค่าไฟฟ้าที่จะใช้ในมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะไม่สูงกว่าราคาไฟฟ้าทั่วไปที่ กฟภ.ขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นๆ

Back to top button