“สมคิด” จี้แบงก์รัฐช่วย “เอสเอ็มอี” รายเล็ก-ยกโมเดลสิงคโปร์ยุบสภา ดันรบ.ใหม่ แก้วิกฤตศก.

“สมคิด” จี้แบงก์รัฐช่วย “เอสเอ็มอี” รายเล็ก-ยกโมเดลสิงคโปร์ยุบสภา ดันรัฐบาลใหม่ แก้วิกฤตเศรษฐกิจ


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานมอบนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่า เอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีทุนน้อย ขณะที่ธนาคารส่วนใหญ่จะโฟกัสธุรกิจใหญ่ เมื่อเศรษฐกิจลงลึกมาเท่าไหร่ยิ่งไม่กล้าปล่อยสินเชื่อมากเท่านั้น เพราะกลัวว่าธนาคารจะเป็นปัญหา ทั้งที่หนี้เสียไม่ได้มาจากความผิดของนักธุรกิจ แต่เป็นเพราะไม่สามารถช่วยเขาตั้งแต่ต้น ถ้ายังเป็นอย่างนี้ไม่ช่วยตั้งแต่ต้นจะทำให้ทุกธนาคารลำบาก เพราะไม่มีทางที่จะอุ้มชูด้วยสินเชื่อลูกค้าที่มี หากเศรษฐกิจข้างนอกมีปัญหาจะพันกันไปทั้งหมด

ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะธนาคารรัฐ ส่วนธนาคารเอกชนไม่พูดถึง เพราะเป็นสิทธิ์ของการทำธุรกิจ ธนาคารรัฐมีคลังถือหุ้นใหญ่ ถ้ายังไม่ช่วยกันจะลำบากมาก ๆ

“เวลานี้พวกเรากำลังเจอพายุลูกใหญ่ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ถ้าไม่ตั้งรับดีๆ ก็จะเหนื่อยกันหมด เช่น สิงคโปร์ต้องยุบสภา เพราะคาดคะเนว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่ลงมาก จึงยุบก่อน เพื่อเลือกตั้งจะได้มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ เวลามีพายุ อย่างพายุวิกฤตปี 2540 ได้ผ่านมาแล้ว คนที่จะถูกกระทบก่อนเลยคือ เอสเอ็มอี ซึ่งตัวเล็ก เงินน้อยแต่มีการจ้างงานพอสมควร ถ้าไม่ดูแลเขาปกติจะได้สินเชื่อยากมาก เราจึงต้องดูแลตั้งแต่ต้นทาง ให้อยู่รอดได้ ให้ยังมีการจ้างงานต่อไป”

ดังนั้น แนวคิดที่หารือกับนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง คือ เอสเอ็มอีมีปัญหาสารพัด ขณะที่หน่วยงานที่ต้องเป็นด่านแรกอุ้มชู คือ สสว.เพื่อว่าส่วนไม้ที่ 2 และไม้ที่ 3 จะได้เข้ามาช่วยเหลือกันได้ ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ และภาคเอกชนด้วยกันเองที่สามารถจะเข้ามาช่วยกัน หากเป็นอย่างนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กจะมีกำลังใจทำงานต่อไปและไม่โดดเดี่ยว

ด้านนายอุตตม กล่าวว่า หากมองเอสเอ็มอีที่เห็นในระบบ ความช่วยเหลือแบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่อยู่กับธนาคารทั้งธนาคารภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ แต่ก็ยังต้องช่วยเหลือกันต่อไป เพราะขณะนี้อยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ แม้ว่าจะมีเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ต้องคิดว่าจะทำต่ออย่างไรให้มีความช่วยเหลือได้มากขึ้น

“ผมหารือกับท่านทั้งหลาย น่าจะต้องให้ บสย.เข้ามาช่วยเพิ่มมากขึ้นอีก ทำให้กลไกแบงก์พาณิชย์ที่มีอยู่ รวมถึงซอฟต์โลนของ ธปท.คล่องตัวยิ่งขึ้น ได้เร็ว และได้มากขึ้นทั้งปริมาณด้วย เชื่อว่ามีทางทำได้ อาจจะ สสว.ช่วยอีกทาง ทำให้ บสย.มีกระสุนเข้าไปช่วย” นายอุตตม กล่าว

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงธนาคาร อาจจะเป็นเพราะตัวเล็ก ไม่เคยกู้ ไม่มีทรัพย์สิน โดยกองทุน สสว.จะเข้าไปช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นต้องไม่ใช้เกณฑ์ของธนาคาร แต่จะต้องมีทั้งสินเชื่อผ่อนปรน และทุนสนับสนุน ซึ่งในกลุ่มดังกล่าว ส่วนแรกมีปัญหาสภาพคล่อง ต้องรีบช่วยเพื่อไม่ให้ไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ และเมื่อช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วต้องมองต่อว่าหากเศรษฐกิจผ่อนคลายหลังโควิด การทำมาหากินจะเปลี่ยนรูปแบบไป ก็ต้องมีเงินทุนอีกส่วนนึงมาเป็นตัวช่วย หาก สสว.ช่วยในส่วนแรกแล้ว ส่วนเป็นรูปทุนจะทำให้ธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ต่อยอดได้อีก

“ถ้า สสว.ช่วยร้อย มันจะกลายเป็นพัน จะกลายเป็นหมื่น เขาก็จะไปรอด วันนี้เราวางแผนมองไปถึงจุดนั้นเลยว่าทำอย่างไรให้คนที่มีศักยภาพ แล้วเราเติมเต็ม สสว.ก็ต้องใช้กำลังที่มีซึ่งเป็นพันธกิจโดยตรง คือการเสริมศักยภาพที่ไม่ใช่ตัวเงิน โครงการทักษะทั้งหลายเหล่านี้สามารถผูกเข้าไปเป็นเงื่อนไขว่าถ้าจะรับเงินจาก สสว.ต้องเข้าโครงการพวกนี้นอกเหนือจากการแสดงตน เพื่ออีกหน่อยถ้ามีอะไรที่สนับสนุนพัฒนาได้จะได้ทำให้ตรงยิ่งขึ้น” นายอุตตม กล่าว

Back to top button