ศบค.ศก. นัดแรก เคาะ 4 มาตรการเร่งด่วน กระตุ้นท่องเที่ยว-ช่วย SME-หนุนจ้างงาน-ใช้จ่าย

ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ นัดแรก เคาะ 4 มาตรการเร่งด่วน กระตุ้นท่องเที่ยว-ช่วย SME-หนุนจ้างงาน-ใช้จ่าย


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอาชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบศ.) นัดแรกวันนี้ (19 ส.ค.63) เห็นชอบกรอบข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย และสามารถบรรเทาผลกระทบได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

รวมถึงการส่งเสริมการจ้างงานโดยเฉพาะให้แก่ผู้จบการศึกษาใหม่ ควบคู่ไปกับการรักษาการจ้างงานภายในประเทศ การสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงทั้งภาคการผลิตและภาคบริการให้สามารถฟื้นตัวเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนและผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย และ การรักษาเสถียรภาพทางการเงินเพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนและบรรเทาความเสียหายที่อาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ

โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน พร้อมด้วย นายสมิทธ์ พนมยงค์ โฆษกประจำ ศบศ. และนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวว่า ศบศ.กำหนดความสำคัญต่อข้อเสนอมาตรการระยะเร่งด่วน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว , มาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจและ SMEs, มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน และ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย

สำหรับมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” เช่น การขยายสิทธิจองที่พัก จาก 5 คืนเป็น 10 คืน หรือ เพิ่มเงินช่วยค่าท่องเที่ยวจาก 1 พันบาท เป็น 2 พันบาท โดยเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า นอกจากนั้น ยังจะมีการวางแนวทางมาตรการนำร่องเพื่อเปิดรับท่องเที่ยวจากต่างประเทศเฉพาะพื้นที่ (ภูเก็ตโมเดล) อย่างรอบคอบและรัดกุม รวมถึงมีแนวคิดดึงภาคเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ หรือเอกชนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพมาช่วยส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

ส่วนมาตรการส่งเสริมการจ้างงาน อาทิ การส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้ที่จบใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน การส่งเสริมการจ้างงานเพิ่มเติมเพื่อทดแทนแรงงานต่างด้าว การรักษาการจ้างงานเดิมโดยเน้นในสาขาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทั้งแรงงานในและนอกระบบ และการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาสำหรับผู้มีรายได้น้อย

และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติมระยะใหม่ โดยเน้นกลุ่มคนตัวเล็ก หรือพ่อค้าแม่ค้า หาบเร่แผงลอย และมาตรการเปิดรับผู้ใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ศบศ.มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำรายละเอียดมาตรการในระยะเร่งด่วนตามกรอบข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจ รวมทั้งการขอต่ออายุและ/หรือข้อเสนอเพิ่มเติมของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพต่าง ๆให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจตามเหมาะสมและความจำเป็น โดยต้องเสนอในที่ประชุม ศบศ.ทุก 2 สัปดาห์ หรือหากประเด็นใดแล้วเสร็จนำเสนอครม.ได้ทันที

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบศ.ยังรับทราบการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจจากทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไตรมาส 2 ที่ติดลบ 12 % และทั้งปีคาดว่า ติดลบ 7.5 % โดยศบศ.มีเป้าหมายให้ตัวเลขจีดีพีทั้งปีติดลบน้อยกว่านั้น

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า คณะกรรมการ ศบศ. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำข้อเสนอและกรอบแนวทางการดำเนินการมาตรการเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย (1) ระยะเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด 19 และ (2) ระยะปานกลางและระยะยาวเพื่อยกระดับศักยภาพและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตภายหลังจากการระบาดโควิด 19 สิ้นสุดลง

พร้อมกันนั้นยังรับทราบแนวทางการดำเนินงานของ ศบศ.โดยจะมีการประสานและติดตามการดำเนินงานกับ “คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ” โดยมีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงทุกกระทรวงเป็นคณะกรรมการ ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยติดตามและประเมินผลการทำงานของ คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น และสามารถให้ข้อเสนอแนะได้ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

ด้านนายสมิทธ์ กล่าวว่า ศบศ.ยังเห็นชอบแนวทางการดำเนินการมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับพื้นที่ (Micro) ส่งเสริมการจ้างงานในระดับพื้นที่ โดยจะมีกลไกดำเนินการผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดเป็นหลัก และ (2) ระดับประเทศ (Macro) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้ในระดับศักยภาพ การส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานในภาพรวม รวมทั้งการวางรากฐานและผลักดันให้เศรษฐกิจปรับเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยจะมีกลไกดำเนินการผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นหลัก

Back to top button