HPT คาดผลงานครึ่งปีหลังฟื้น หลังตุนแบ็กล็อกแน่น 17 ลบ.-ลุ้นรับออเดอร์ตปท.เพิ่ม

HPT คาดผลงานครึ่งปีหลังฟื้น หลังตุนแบ็กล็อกแน่น 17 ลบ.-ลุ้นรับออเดอร์ตปท.เพิ่ม


นายนิรันดร์ เชาว์กิตติโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม พอตเทอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ HPT เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานช่วงครึ่งหลังปี 2563 โดยคาดว่าในครึ่งหลังปี 2563 ผลประกอบการจะดีกว่าครึ่งปีแรก ที่มีรายได้ 66.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 0.06 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3/63 สินค้าเริ่มกลับมาขายได้ประมาณ 2 แสนชิ้น/เดือน ลดลงจากเดิมขายได้ 3 แสนชิ้น/เดือน ซึ่งระดับยอดขาย 2 แสนชิ้น/เดือนยังสามารถทำกำไรได้ เพราะขณะนี้บริษัทลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดจะกลับมา 60% จากเดิมที่ชะลอไป จึงคาดว่าในปีนี้จะไม่มีผลขาดทุน

ทั้งนี้ บริษัทได้หยุดการผลิตทั้งหมดเป็นการชั่วคราวตั้งแต่มิ.ย.63 หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และได้เริ่มกลับมาผลิตเมื่อวันที่ 1 ก.ย.63 ที่ผ่านมา โดยทยอยกลับมาผลิตเดือนละ 1.2 แสนชิ้น และปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) 17 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ใน 1-2 เดือน

“ยอดขายปีนี้ ถ้าเทียบกับปีก่อนน้อยลง ครึ่งปีหลังน่าจะไม่ได้แย่ลง ตลาดก็ต้องดูประเทศอื่น ๆ ซึ่งก็มีผู้ติดเชื้อโควิดลดลง แต่ก็ยากที่จะตอบ ต้องดูว่าแต่ละประเทศฟื้นตัวเมื่อไร”

ด้าน น.ส.นิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ กรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด HPT เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมารายได้จากการส่งออกหายไป หลังลูกค้าในทุกทวีปชะลอการสั่งซื้อ โดยสหรัฐอเมริกาเป็นลูกค้าหลัก ได้ชะลอคำสั่งซื้อ ตั้งแต่ช่วงวันสงกรานต์ เป็นเวลา 3-4 เดือน ปัจุบันความเสียหายธุรกิจก็ค่อย ๆ ดีขึ้นแล้ว ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามเรียนรู้ปรับตัวให้เข้ากับ New Normal

โดยบริษัทได้เพิ่มช่องทางขายทางออนไลน์ ซึ่งบริษัทเปิดเพจเฟซบุ๊ก โพสต์ดีไซน์ใหม่ ๆ ของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้า นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก ยังพัฒนาสินค้า แบรนด์ PETYE Eco absolute และเสนอขายผ่านแพลตฟอร์มขายสินค้าต่างๆ เช่น เจดีเซ็นทรัล ลาซาด้า ช้อปปี้ แมคโครคลิก เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม และยังมีแผนเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าไปแหล่งอื่นอีก

นอกจากนี้ บริษัทปรับแผนเพื่อให้อยู่รอด เน้นการเก็บกระแสเงินสด ด้วยการลดต้นทุนให้สอดคล้องรายได้ที่ลดลง ได้แก่ พลังงาน วัตถุดิบ  อาทิ ดินเคลือบ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถการผลิต เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง มีการบริหารจัดการคลังสินค้า ให้มีการจำหน่ายได้คล่องตัว กลับมาเป็นเงินสดได้เร็ว รวมทั้งชะลอการลงทุนโครงการใหญ่ ขณะเดียวกั้น การเพิ่มฐานลูกค้าในประเทศ กลุ่มอาหาร และกลุ่มครัวเรือน เพิ่มไลน์สินค้าให้ทันความต้องการตลาด เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าของบริษัทได้

ทั้งนี้ ลูกค้าหลักอย่างสหรัฐฯ เริ่มมีคำสั่งซื้อ และหากเดือนต.ค.สั่งซื้อมากก็จะดีขึ้น และประเทศอื่นสถานการณ์โควิด-19 ก็เริ่มคลี่คลาย และหากมีวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ก็เป็นข่าวดีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะหายไป ก็เชื่อว่าความต้องการสินค้าก็จะเพิ่มขึ้น

Back to top button