“ธปท.” ชี้มาตรการรัฐ-หยุดยาว หนุนเศรษฐกิจ พ.ย. ฟื้นต่อเนื่อง รับห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง

“ธปท.” ชี้มาตรการรัฐ-หยุดยาว หนุนเศรษฐกิจ พ.ย. ฟื้นต่อเนื่อง รับห่วงหนี้ครัวเรือนยังพุ่งสูง


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ย.63 ว่า เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และหลายเครื่องชี้เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนด้วย

โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากผลของมาตรการภาครัฐและวันหยุดยาวพิเศษ เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลงสอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง ตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสด ที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานทรงตัวและยังมีสัญญาณความเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลตามการเกินดุลการค้าที่ลดลงจากการนำเข้าทองคำที่สูงขึ้น และการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่มากขึ้น

ธปท.ระบุว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายที่ปรับดีขึ้นในทุกหมวด สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่มีทิศทางทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐและวันหยุดยาวพิเศษ ประกอบกับมีผลของฐานต่ำในปีก่อนทั้งในหมวดสินค้าคงทนและไม่คงทน ทั้งนี้ แม้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวของกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังเปราะบางสะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ยังสูง รวมทั้งยังมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้และพื้นที่

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับดีขึ้นมากจากการนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่เปิดตัวช้ากว่าปีก่อน สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวน้อยลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่กลับมาขยายตัว

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ล่าช้า โดยรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวจากการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงขึ้นตามการลงทุนของรัฐบาลกลางด้านคมนาคมและชลประทาน ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 3.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ 2.3 โดยเป็นการหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตร และสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการผลิตยานยนต์เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการและฐานที่ต่ำในปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 3.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงในเดือนนี้ มูลค่าการนำเข้าหดตัวมากขึ้นเป็นร้อยละ 6.5 โดยเป็นการหดตัวที่น้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าหมวดสินค้าทุนที่หดตัวน้อยลงมากตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ และการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงที่หดตัวน้อยลงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ แม้ในเดือนนี้มีนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourists Visa: STV) เดินทางเข้าไทย แต่ยังมีจำนวนไม่มาก

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ด้านตลาดแรงงานทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนผู้มีงานทำในภาพรวมที่ทรงตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานยังเปราะบาง โดยอัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมยังอยู่ในระดับสูง และยังมีพัฒนาการที่แตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นช้าเมื่อเปรียบเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่น

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุล จากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงตามการนำเข้าทองคำ และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้น

น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงสถานการ์เงินบาทที่แข็งค่าในช่วงเดือนพ.ย.ว่า เป็นเพราะมีเงินทุนไหลเข้ามากมาก จึงทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งเหตุที่มีเงินไหลเข้าไทยมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่รับข่าวผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกอบกับความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิดที่มีความชัดเจน จึงทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจจึงลดการลงทุนในดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง

“พอนักลงทุนมีความมั่นใจ จึงลดการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า มีการนำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น เช่นประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย จึงทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาค่อนข้างเยอะ เงินบาทจึงแข็งค่าในลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน” น.ส.ชญาวดี ระบุ

ส่วนในเดือน ธ.ค. เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง จากวัคซีนต้านไวรัสโควิดที่มีความคืบหน้าและอนุมัติให้เริ่มฉีดได้แล้ว ประกอบกับสหรัฐฯ มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งประเทศหลักๆ ยังใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงปลายเดือนธ.ค. เงินบาทกลับมาอ่อนค่าจากความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ภายในประเทศ

“ปลาย ธ.ค.บาทอ่อนค่าลง มาจากความกังวลต่อการระบาดของโควิดรอบใหม่ในไทย ประกอบกับดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เพราะความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไม่ใช่แค่ไทยประเทศเดียว ประเทศอื่นก็เริ่มมีความรุนแรง และอาจมีมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น” น.ส.ชญาวดี ระบุ

สำหรับการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ในประเทศนี้ ยังต้องมีการประเมินผลกระทบตลอดเวลา โดยพิจารณาจากปัจจัยพบผู้ป่วยใหม่ และมาตรการที่ภาครัฐจะนำออกมาใช้ อย่างไรก็ดี ธปท.ได้มีการนำปัจจัยเรื่องโควิดรวมไว้อยู่ในการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปี 64 ไว้แล้วระดับหนึ่ง

  “ตอนนี้การระบาดมีมากขึ้นจากช่วงที่เราประมาณการไว้ คงต้องดูผลต่อเศรษฐกิจที่ภาครัฐจะมีมาตรการออกมาด้วย ถามว่าเราใส่ เข้าไปในประมาณการปีหน้าหรือไม่ เราใส่ไปในระดับหนึ่ง แต่ความเสี่ยง เราให้ไว้ในด้านต่ำค่อนข้างเยอะ ต้องรอดู หากภาครัฐมีมาตรการที่หยุดการระบาดได้ ประชาชนปรับพฤติกรรมได้ ทำให้การระบาดไม่แพร่ไปไกลมาก ก็จะอยู่ในขาที่ดี แต่หากการระบาดไม่สามารถควบคุมได้ ก็จะรุนแรงกว่าคาด แต่ในแง่การประเมินทั้งหมด ยังอยู่ในช่วงที่คุยกันไว้ใน กนง.” น.ส.ชญาวดี ระบุ

พร้อมมองว่า เศรษฐกิจไทยถือว่ายังมีความทนทานระดับหนึ่งต่อการรองรับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่มีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และเชื่อว่าภาครัฐได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการดูแลสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม จึงเชื่อว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจในรอบนี้ จะไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดในรอบแรก

 

Back to top button