บราซิล เผยผลทดลองวัคซีน “ซิโนแวค” มีประสิทธิภาพป้องติดเชื้อ “โควิด” ไม่รุนแรง ได้ 78%

บราซิล เผยผลทดลองวัคซีน “ซิโนแวค” มีประสิทธิภาพป้องติดเชื้อ “โควิด” ไม่รุนแรง ได้ 78%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศจัดซื้อวัคซีนโควิดล็อตแรก 2  ล้านโดส ของบริษัทชิโนแวค ไบโอเทค จากประเทศจีน เพื่อนำมาฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นนักรบด่านหน้าที่ต้องเผชิญความเสี่ยงก่อนนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลายคนตั้งข้อสงสัยในประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดจากจีน

ทั้งนี้ล่าสุด บราซิลซึ่งเป็นประเทศแรกที่เสร็จสิ้นการทดลองวัคซีน CoronaVac ขั้นสุดท้าย เปิดเผยวันนี้ (8 ม.ค.64) ว่า ผลการทดลองขั้นสุดท้ายของวัคซีนต้านโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ของจีน มีประสิทธิภาพ 78% ในการป้องกันโควิด-19 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีการเปิดเผยออกมาว่าวัคซีนตัวดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสได้ราว 50-90% จากการทดลองในบราซิล ซึ่งได้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทจีนซึ่งจะถูกนำมาใช้ในบราซิล

โดยข้อมูลดังกล่าวได้รับการยืนยันโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐซานเปาโลซึ่งระบุว่า ตัวเลขนี้มาจากการทดลองขั้นสุดท้ายที่ดำเนินการกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 13,000 คน ขณะที่วัคซีน mRNA ที่พัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา แสดงให้ประสิทธิภาพการป้องกันไวรัส 95% ในการทดลองขั้นเดียวกัน

นายดิมาส โควาส ผู้อำนวยการสถาบันบูตันตัน (Butantan Institute) ศูนย์วิจัยทางชีววิทยาและผู้ผลิตวัคซีนในรัฐเซาเปาลู ซึ่งกำลังร่วมมือกับซิโนแวคเพื่อผลิตวัคซีนมาใช้ในประเทศ กล่าวว่า วัคซีนของซิโนแวกมีประสิทธิภาพ 78% ในการป้องกันการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง และ 100% ในการป้องกันไม่ให้คนไข้มีอาการปานกลางและรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัส

ทั้งนี้ สถาบันบูตันตันกำลังวางแผนที่จะขออนุมัติการใช้งานวัคซีนกรณีฉุกเฉินจาก Anvisa ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพของบราซิลในวันศุกร์นี้ โดย Anvisa จะใช้เวลาประมาณ 10 วันในการวิเคราะห์คำขอดังกล่าว

นายโควาสเสริมว่า ผลการทดลองขั้นสุดท้ายพบว่า มีผู้เข้าร่วมการทดลองที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 220 คน ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มได้รับวัคซีนหลอก 160 คนและอีกราว 60 คนอยู่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจากซิโนแวค

อย่างไรก็ตาม นายโควาสปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษา รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มอายุและผลข้างเคียงของการฉีด ทั้งยังไม่ระบุว่าจะมีการเผยแพร่เอกสารฉบับเต็มออกมาเมื่อใด

Back to top button