RATCH ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่ากิจการเป็น 1.8 แสนลบ.ปี 61 จับมือพันธมิตรลุยงานตปท.

RATCH ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่ากิจการเป็น 1.8 แสนลบ.ในปี 61 จากเดิมคาด 1.33 แสนลบ. มุ่งสู่การเป็นบริษัทพลังงานครบวงจรในเอเชียแปซิฟิก พร้อมดึงพันธมิตรลุยงาน ตปท.


บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ระบุว่า บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่ากิจการเป็น 1.8 แสนล้านบาทในปี 61 จากที่คาด 1.33 แสนล้านบาทในปีนี้ โดยวางเป้าเป็นบริษัทพลังงานครบวงจรในเอเชียแปซิฟิก เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรรายเก่าและรายใหม่ เพื่อร่วมมือกันศึกษาและพัฒนาโครงการด้านพลังงานในต่างประเทศ

“ภาวะความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่ลดลง ประกอบกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าราชบุรีจะสิ้นสุดในปี 2568 เป็นแรงกดดันที่ทำให้ต้องปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว การผลักดันให้มูลค่ากิจการเติบโตได้ตามเป้าหมายปีละ 10% จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นรวม ขึ้นมาอยู่ในระดับบริษัทพลังงานชั้นนำในภูมิภาคที่ 11.3% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 9.8%”นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ RATCH กล่าว

สำหรับการมุ่งสู่บริษัทพลังงานครบวงจรในเอเชียแปซิฟิก เพื่อขยายโอกาสธุรกิจให้มากขึ้น แต่ยังคงอยู่ในกลุ่มที่บริษัทที่ความเชี่ยวชาญ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ดังกล่าว บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งรายเดิมและรายใหม่ ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ กลุ่มบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ,กลุ่มซีจีเอ็น ของจีน ,กลุ่มบริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW,กลุ่มชูบุอิเล็คทริก และกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อร่วมมือกันศึกษาและพัฒนาโครงการด้านพลังงานในต่างประเทศ

ด้านนายรัมย์ เหราบัตย์ ซึ่งจะเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ RATCH ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ เปิดเผยว่า การเข้ามารับช่วงต่อในตำแหน่งดังกล่าวนับเป็นความท้าทาย เพราะบริษัทอยู่ในจุดเปลี่ยนจากบริษัทผลิตไฟฟ้าเพื่อไปเป็นบริษัทพลังงานครบวงจร โดยมีเป้าหมายมูลค่ากิจการให้ถึงระดับ 1.8 แสนล้านบาทในปี 61 และเพิ่มเป็น 2.82 แสนล้านบาทในปี 66

สำหรับแนวทางที่จะดำเนินงานในช่วงต่อจากนี้จะมี 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1. การบริหารประสิทธิภาพสินทรัพย์ เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร และลดต้นทุน ซึ่งปัจจุบันสินทรัพย์แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ โรงไฟฟ้าที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ,โรงไฟฟ้าที่เริ่มเดินเครื่องจนถึง 5 ปี และโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง

2.ขยายการลงทุนใหม่ไปในต่างประเทศ  ซึ่งจะเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาสัดส่วนการลงทุนแบบซื้อกิจการ และการลงทุนแบบกรีนฟิลด์ให้เหมาะสมกับเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวด้วย

3.บริหารโครงสร้างเงินทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการ โดยจะพิจารณาแนวทางที่เป็นประโยชน์จากอัตราส่วนหนี้ที่ต่ำ ในการจัดหาเงินที่มีต้นทุนถูกรองรับการลงทุนในโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงบริหารกระแสเงินสดที่มีอยู่กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท ให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด

4.บริหารทรัพยากรบุคคล มุ่งสร้างและพัฒนาศักยภาพและความสามารถของบุคลากรให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย และสามารถปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์เพื่อรองรับการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ และ 5.ยึดหลักธรรมาภิบาลบริหารองค์กร

“จะเร่งเดินหน้าภารกิจทั้งด้านการลงทุนให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและติดตามการบริหารสินทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้มูลค่ากิจการเติบโตตามเป้าหมายและบรรลุ 2.82 แสนล้านบาทในปี 66 ตามที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์”นายรัมย์ กล่าว

Back to top button