“กนอ.” โชว์ยอดลงทุน 9 เดือนแรกปีงบ 64 แตะ 1.3 แสนลบ. โต 138%

กนอ. โชว์ยอดลงทุน 9 เดือนปีงบประมาณ 2564  (ต.ค.63-มิ.ย.64) เม็ดเงินลงทุนกว่า 130,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 138.27% คาดการลงทุนของไทยและจากต่างประเทศช่วงไตรมาส 4 เติบโตขึ้น หลังสถานการณ์ในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว  


นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุน 9 เดือนปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63-มิ.ย.64) เม็ดเงินลงทุนกว่า 130,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 138.27% ขณะที่ยอดขาย/เช่าที่ดิน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 49.59% จากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้ามาดูพื้นที่ไม่สะดวก

โดยคาดการลงทุนของไทยและจากต่างประเทศช่วงไตรมาส 4 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์ในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว และเชื่อมั่นในจุดแข็งของไทยที่เป็นแม่เหล็กดูดการลงทุน

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2564 ยอดขาย/เช่าที่ดิน ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศชั่วคราว โดยในภาพรวมของนิคมอุตสาหกรรม มียอดขาย/เช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 927.09 ไร่ ประกอบด้วย ยอดการขาย/เช่าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวน 747.99 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี จำนวน 179.10 ไร่ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 49.59% (ปี 2563 ยอดขาย/เช่า ช่วง 9 เดือน อยู่ที่ 1,838.96 ไร่) เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงเลื่อนออกไปจากมาตรการจำกัดการเดินทาง

ขณะที่มูลค่าการลงทุนรวมช่วง 9 เดือนปี 2564 คิดเป็นมูลค่า 130,289.44 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ถึง 138.27% (มูลค่าการลงทุนปี 2563 อยู่ที่ 54,681.37 ล้านบาท) จากการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นของฐานลูกค้าเดิมในนิคมอุตสาหกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กระบวนการผลิต

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการลงทุน ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 13.77% อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 10.83% อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 7.80% อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ 7.01% และอุตสาหกรรมปุ๋ย สี และเคมีภัณฑ์ 6.05%โดยนักลงทุนจากประเทศจีนใ ห้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง 15.15% รองลงมาคือ นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 12.12% และสิงคโปร์ เกาหลี และสหรัฐอเมริกา 9.09%

“ปัจจุบัน มีนักลงทุนแสดงความสนใจที่จะซื้อ/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้า (Warehouse) ที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่น เนื่องจากได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดต่อเนื่อง ผนวกกับกระแสการย้ายการลงทุนออกจากประเทศจีนของกลุ่มนักลงทุนชาวจีน ญี่ปุ่น และอเมริกามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น และประเทศไทยยังมีศักยภาพและความแข็งแกร่งในการรองรับการลงทุนเพื่อเป็นฐานและศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่มีต่อการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมทุกนิคมฯ ทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี” ผู้ว่าฯ กนอ.กล่าว

ทั้งนี้ พร้อมเชื่อว่า ในช่วงปลายปี 2564 การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจะดีขึ้น หลังคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะควบคุมการระบาดระลอก 3 ได้ในระดับหนึ่งจากการจัดหาและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 และสร้างระดับภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวขึ้นได้

สำหรับ การลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสะสม สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2564 มีจำนวนประมาณ 178,891 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 37,724 ไร่ และเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 141,167 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่า  118,667 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้ว 90,972 ไร่ จึงยังคงมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีก 27,695 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสม ประมาณ 4.70 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 4,944 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 815,942 คน

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า ปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าตั้งแต่กลางปี 2561 จนถึงปัจจุบันมีนักลงทุนมาลงทุนในไทยแล้วกว่า 230 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่ยังมีกลุ่มที่ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทย เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามด้านซัพพลายเชน ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีพื้นฐานของระบบซัพพลายเชนที่ดีในระดับหนึ่ง อีกทั้งมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตั้งฐานธุรกิจในระยะยาว

Back to top button