
IFA ชี้ INGRS ปล่อยกู้ ICB กว่า 1.5 พันล้าน ไม่คุ้มค่า เสี่ยงสูง-ผลตอบแทนต่ำ
“เมย์แบงก์” ในฐานะ IFA ชี้ INGRS ไม่ควรให้สัตยาบันรายการปล่อยกู้ 197 ล้านริงกิต (ประมาณ 1,505 ล้านบาท) แก่ ICB เหตุเงื่อนไขไม่เหมาะสม แผนชำระหนี้ไม่ชัดเจน ความเสี่ยงสูง และผลตอบแทนต่ำ
บริษัท อิงเกรส อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ INGRS เปิดเผยรายงานความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการพิจารณาให้สัตยาบันการเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่ม ICB
โดยระบุว่ากลุ่ม INGRS ได้อนุมัติเงินกู้ระยะสั้นและเงินทดรองจ่ายแก่กลุ่ม ICB รวมทั้งสิ้น 197.31 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 1,505 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ ไตรมาส 1/2569 เท่ากับ 7.6298 บาท/ริงกิต) เพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง ชำระหนี้ และเป็นทุนหมุนเวียนของ ICB โดยมีการทำสัญญาเงินกู้ 3 ฉบับรวมวงเงิน 97.79 ล้านริงกิต
ทั้งนี้ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นว่า การเข้าทำรายการดังกล่าวมีความไม่เหมาะสมและไม่สมเหตุสมผล ด้วยเหตุผลหลัก 4 ประการ ได้แก่ 1) แผนการชำระคืนขาดความชัดเจน และมีประวัติเลื่อนชำระหลายครั้ง 2) ฐานะการเงินของ ICB อ่อนแอ ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ 3) อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยของ INGRS และไม่จูงใจเทียบกับ Project IRR ของโครงการใหม่ และ 4) เงื่อนไขของรายการอาจทำให้ INGRS สูญเสียประโยชน์และเผชิญผลกระทบด้านลบ
นอกจากนี้ยังพบว่าการดำเนินการให้กู้ยืมดังกล่าวไม่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทตามที่กำหนดในหลักเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกันของตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งผลให้ INGRS เสียโอกาสในการบริหารสภาพคล่อง และอาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยเฉพาะการตั้งอัตราดอกเบี้ยที่เอื้อประโยชน์แก่ ICB
ขณะเดียวกันที่ปรึกษาทางการเงินอิสระประเมินว่า หากผู้ถือหุ้นอนุมัติให้สัตยาบัน จะเป็นการยอมรับการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักบรรษัทภิบาล ส่วนหากไม่อนุมัติ ก็จะสามารถผลักดันให้มีการทวงถามหนี้ และปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ผ่านการจัดทำข้อตกลงชำระหนี้ (Settlement Agreement) อย่างเป็นระบบ แต่ทางที่ปรึกษาฯ เห็นว่า แผนทวงถามหนี้ที่ต้องพึ่งพากระบวนการปรับโครงสร้างองค์กรซึ่งอาจล่าช้านั้น ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม
โดยแม้ผลการลงมติในวาระที่ 2 ของการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 จะเป็นดุลยพินิจของผู้ถือหุ้นแต่ละราย แต่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระย้ำให้พิจารณาข้อมูลรอบด้าน โดยเฉพาะข้อดี-ข้อเสีย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากกรณีนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นธรรมาภิบาล การปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และการปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดทุน
อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่ควรอนุมัติให้สัตยาบันการเข้าทำรายการดังกล่าว พร้อมรับรองว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระ โปร่งใส และยึดประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นหลัก