“เอสซีไอ อีเลคตริค” ฟุ้งยอดจอง IPO ล้นหลาม มั่นใจพื้นฐานดี-แผนการลงทุนชัดเจน

“เอสซีไอ อีเลคตริค” หรือ SCI ผู้ผลิต-จำหน่ายตู้สวิทช์บอร์ด-เสาไฟฟ้าแรงสูง-รับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงดันสูงและระบบจำหน่ายไฟฟ้า เผยยอดจอง IPO จำนวน 187.50 ล้านหุ้น ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุน โดย SCI จะเข้าเทรดใน SET วันที่ 13 ต.ค.นี้ ด้วยราคา IPO 5.90 บ. โดยมีบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI เปิดเผยว่า ผลการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 187.50 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ในราคาหุ้นละ 5.90 บาท ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคมที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ และนักลงทุนรายย่อยอย่างดีเยี่ยม โดยมียอดจองซื้อเกินจำนวนที่เสนอขาย เนื่องจากมีความมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานธุรกิจ และแผนการลงทุนที่มีความชัดเจนของบริษัท

ทั้งนี้ หุ้น SCI  จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 13 ต.ค.58 นี้ ใช้ชื่อย่อ “SCI” ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากรในหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค (Energy)

 “การที่นักลงทุนให้การต้อนรับหุ้น SCI อย่างท่วมท้น สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจที่นักลงทุนมีต่อบริษัท เนื่องจากภายหลังการระดมทุนในครั้งนี้จะทำให้ฐานะทางการเงินของ SCI มีความแข็งแกร่ง พร้อมขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต ดังนั้นจึงมีความมั่นใจว่าหลังหุ้น SCI เข้าเทรดจะได้รับการตอบรับอย่างคึกคัก และให้ผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุน”นายวิชา กล่าว

ด้านนายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCI เปิดเผยว่า ยอดจองซื้อหุ้นไอพีโอที่มีเข้ามาเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัท โดยการระดมทุนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโต และบริษัทเตรียมนำเงินที่ได้ไปคืนหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า (PDSR) เฟส 2 ในลาว ซึ่งจะเริ่มต้นโครงการได้ประมาณไตรมาส 4/58 ลงทุนในโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาโทรคมนาคมในเมียนมาร์ โดยร่วมทุนกับพันธมิตร ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างโรงงานได้ราวไตรมาส 1/59 และลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาดกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ร่วมกับพันธมิตร โดย SCI จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 30%

นอกจากนี้ บริษัทจะนำเงินบางส่วนไปลงทุนในโรงงานไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทย ขนาด 45 เมกะวัตต์ โดยร่วมทุนกับพันธมิตรในสัดส่วน 30% ของมูลค่าลงทุนทั้งหมดราว 3.5-3.7 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มใช้เงินทุนราวในปี 59 และจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) ได้ประมาณปี 62

“การระดมทุนในครั้งนี้จะทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่ง แนวโน้มรายได้และกำไรในปี”62 โตแบบก้าวกระโดด หลังจากเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไทย และการขยายการลงทุนในลาวและพม่า”นายเกียงไกร กล่าว

ขณะที่แนวโน้มรายได้ของ SCI ในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าประมูล 4 จี และแผนการลงทุนด้านสายส่งและสถานีไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ประกาศงบลงทุน 5 ปี ข้างหน้า มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท นอกเหนือจากรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศที่มีเข้ามาอย่างสม่ำเสมอจากการทำธุรกิจในลาว

ส่วนผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกของปี”58 บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการเพิ่มขึ้น 14.42% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 143.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อนึ่ง SCI เป็นผู้ดำเนินธุรกิจ

1. ผลิตและจำหน่ายตู้สวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟและอุปกรณ์รองรับ 

2. ผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคม และโครงสร้างเหล็กชุบกัลวาไนซ์ 

3. ธุรกิจบริการรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงดันสูงและระบบจำหน่ายไฟฟ้า

4. ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (ปัจจุบันมีธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ)

Back to top button