TTB วิ่ง 4% โบรกฯชูท็อปพิกกลุ่ม “แบงก์” อัพเป้า 1.60 บ. สะท้อนกำไรปีหน้า 1.2 หมื่นลบ.

TTB บวก 4% โบรกฯอัพเป้า 1.60 บ. สะท้อนกำไรปีหน้า 1.2 หมื่นลบ. โต 19% อานิสงส์อัตราการเติบโตของ OPEX ลดลง หลัง Integration ที่จะไม่มีอีกแล้วในปีหน้า คาดจะเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในกลุ่มธนาคาร


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (23 ธ.ค. 2564) ราคาหุ้น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ณ เวลา 15:40 น. อยู่ที่ระดับ 1.36 บาท เพิ่มขึ้น 0.05 บาท หรือ 3.82% โดยทำจุดสูงสุดที่ 1.37 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 1.32 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 630.76 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (23 ธ.ค. 2564) ว่า ทางฝ่ายวิจัยประมาณการกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2564 ที่ 2.42 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 96% จากไตรมาสก่อน จากการตั้งสำรองฯที่ลดลงมาที่ระดับปกติที่ระดับ 5.70 ล้านบาท ลดลงจาก 8.20 พันล้านบาท หรือลดลงถึง 31% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เพราะตั้งเผื่อมาเยอะแล้ว

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิมีการฟื้นตัวได้หลังจากที่มีการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ เพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่มาจากรายได้ ในส่วน Bancassurance และกองทุนรวมเป็นหลัก แต่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) เพิ่มขึ้น 5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาสก่อน เพราะยังมีค่าใช้จ่ายในการ Rebranding และการโอนสินทรัพย์ถูกเลื่อนมาจากไตรมาส 3/2564 ขณะที่ NIM ยังทรงตัวได้เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน ที่ 3.00% เพราะมีการปล่อยสินเชื่อผลตอบแทนน้อย อย่างสินเชื่อรายใหญ่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยภาพรวมสินเชื่อรวมลดลงที่ 1.50% จากงวดเดียวกันของปีก่อน หรือลดลง 3.50% จากต้นปีถึงปัจจุบัน ด้าน NPLs จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.25 จาก 2.98% ในไตรมาสก่อนจากลูกหนี้เข้าโครงการช่วยเหลือยังคงเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่ถือว่าเพิ่มขึ้นช้าเพราะ TTB ยังเดินหน้า write-off NPL และขาย NPL

ทั้งนี้ทางฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรสุทธิในปี 2564 อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ทรงตัวจากงวดเดียวกันของปีก่อน เพราะมีค่าใช้จ่ายหลายด้านกดดัน ทั้งจากการ Rebranding และการโอนสินทรัพย์รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการ write-off อุปกรณ์ IT หลังจากควบรวมเสร็จ

อย่างไรก็ดีทางฝ่ายวิจัยมีการปรับประมาณการกำไรสุทธิ ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 4% จากการปรับอัตราการเติบโตของ OPEX ลดลง 3.30% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากเดิมที่คาดลดลง 0.40% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เพื่อสะท้อนค่าใช้ จ่ายด้าน Integration ที่จะไม่มีอีกแล้วในปี 2565 (ปี 2564 มีค่าใช้จ่าย Integration ราว 3 พันล้านบาท) ทำให้ทางฝ่ายวิจัยคาดว่ากำไรสุทธิในปี 2565 จะอยู่ที่ 1.20 หมื่นล้านบาท เติบโตได้ถึง 19% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในกลุ่มธนาคาร

สำหรับปี 2565 จะเห็น Revenue synergy เด่นชัดขึ้นหลังจากควบรวมกับ TBANK เสร็จ ซึ่ง TTB จะเริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อ ที่มีผลตอบแทนสูงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อ โดยจะมีการ Launch mobile application ที่สามารถต่อยอดธุรกิจเช่าซื้อได้อย่างครบวงจรใน app เดียว ในช่วงไตรมาส 1/2565

นอกจากนี้ทางฝ่ายวิจัยได้ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น ที่ 1.60 บาท อิงค่า PBV ปี 2564 ที่ 0.70 จากเดิมที่ 1.35 บาท อิงค่า PBV ปี 2564 ที่ 0.60 จากการปรับกำไรเพิ่มขึ้น และปรับค่า PBV ขึ้น เพื่อสะท้อนแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่จะเติบโตได้อย่างโดดเด่นในปี 2565 แต่ยังมีความเสี่ยงจากการตั้งสำรองฯที่จะเร่งตัวขึ้นอีกและ NPL ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รอบใหม่

Back to top button